สังคม

ส.ประกันวินาศภัยไทย ขานรับนโยบาย ‘ชัชชาติ’ มอบหมวกกันน็อกเด็ก สังกัด กทม. 1.2 แสนใบ

โดย petchpawee_k

28 มิ.ย. 2565

9 views

วันที่ 27 มิ.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมหารือกับ นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อร่วมมือกันหาหมวกกันน็อกเด็ก ให้เด็กนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร


ภายหลังการประชุม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันที่ตนเองรับตำแหน่งวันแรก มีสมาคมคนพิการมาร้องเรียนที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า ขอให้จัดหาหมวกกันน็อกเด็ก ให้กับเด็กนักเรียนใน กทม. เพราะส่วนใหญ่เด็กนักเรียนนั่งรถจักรยานยนต์มาโรงเรียนเยอะ และส่วนใหญ่ผู้ปกครองไม่ได้ซื้อหมวกกันน็อกให้เด็ก


ต่อมากรุงเทพมหานครไปหาข้อมูล พบว่าใน กทม.มีเด็กนักเรียนทั้งหมด 270,000 คน ใน 437 โรงเรียน พบว่าเด็กนักเรียนประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นั่งรถจักรยานยนต์มาโรงเรียน ทั้งมากับผู้ปกครองและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เด็กจำนวนมากไม่มีหมวกกันน็อกใส่ เพราะเด็กก็ไม่สามารถเอาหมวกกันน็อกผู้ใหญ่มาใส่ได้ เพราะมันใหญ่ มีช่องว่าง ทำให้ไม่สามารถป้องกันศีรษะได้


ดังนั้นสมาคมวินาศภัยไทย และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มีความประสงค์จะมอบหมวกกันน็อกให้ กทม.นำไปมอบให้โรงเรียนต่างๆในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากการสำรวจของกรุงเทพมหานคร พบว่ามีนักเรียนชั้นประถมศึกษา ที่ต้องการหมวกกันน็อค ทั้งสิ้น 126,117 ใบ โดยหมวกที่รับมอบจะเป็นสมบัติของ กทม. จากนั้นจะส่งมอบไปยังโรงเรียน และให้เด็กนักเรียนขอยืมใส่ไป-กลับโรงเรียนเป็นเทอมๆไป


โดยเป้าหมายสำคัญของ กทม.จะเน้นรณรงค์ทั้งผู้ปกครองและนักเรียน 4 ข้อ คือการใส่หมวกกันน็อกทั้งไป-กลับ / พยายามขับเลนซ์ซ้ายเมื่อมีเด็กไปด้วยเพราะปลอดภัยกว่า / หยุดรถบริเวณทางม้าลายตรงทางม้าลายหรือจุดหยุดรถไฟเขียวไฟแดง /และอย่าขับรถจักรยานยนต์ย้อนศร



ด้านนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในประเทศไทย มีประมาณ 15,000-16,000 คน/ปี พบว่าร้อยละ 70-80 เกิดจากรถจักรยานยนต์ และพบว่าร้อยละ 24 เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี



ทางสมาคมวินาศภัยไทย และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ยินดีเป็นเจ้าภาพการออกแบบหมวกกันน็อกให้เหมาะสมกับเด็ก และมีความปลอดภัยเต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์  โดยทางสมาคมฯจะไปออกแบบหมวกกันน็อกเด็ก ทั้งของผู้หญิงและผู้ชาย ที่เด็กนักเรียนอยากใส่ และได้มาตรฐาน มอก. ภายหลังออกแบบแล้วคาดว่าจะใช้เวลาการผลิตประมาณ 1 เดือนจึงแล้วเสร็จ 



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/dWiTflmf2RY

คุณอาจสนใจ

Related News