สังคม

‘หมอฉันชาย’ ชี้นโยบาย ‘กัญชาเสรี’ ย้อนแย้ง กม.มีช่องว่าง หวั่นคนใช้สันทนาการ อ้างเพื่อการแพทย์

โดย passamon_a

11 มิ.ย. 2565

1.3K views

‘หมอฉันชาย’ ชี้นโยบาย ‘กัญชาเสรี’ ย้อนแย้ง กม.มีช่องว่าง หมอธีระ ฉะอย่าสร้างวาทกรรมลวงโลก เป็น ‘สมุนไพรแห่งความเมตตา’

วันที่ 10 มิ.ย. รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวในงานเสวนาของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ช่วงหนึ่งว่า ที่ผ่านมามีนโยบายทางการเมืองผลักดันเรื่องการใช้กัญชา แต่เห็นว่ามีความย้อนแย้งของนโยบายที่ประกาศและการปฏิบัติจริง  แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เน้นเสมอ ว่าการใช้กัญชามีจุดประสงค์เพื่อการแพทย์ / ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ / ไม่ส่งเสริมสันทนาการ แต่ในการการไปใช้งานจริง ทั้ง 3 คำนี้มีความย้อนแย้งกันมาก เพราะการใช้กัญชาทางการแพทย์มีใช้อยู่ 3-4 อย่าง คือ เป็นยาแผนปัจจุบัน มีข้อบ่งชี้ 6-7 โรค ส่วนใหญ่เป็นยาแผนโบราณ มีสูตรต่างๆ มากมายถือว่าสีเทาพอสมควร ถ้าควบคุมการผลิตดี คุมปริมาณให้เหมาะสมก็จะไม่เกิดผลเสียมากนัก

แต่ประเด็นที่น่ากังวล คือการใช้สันทนาการ แต่อ้างข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น อ้างว่าปวดหัว รู้สึกไม่สบาย ซึ่งเชื่อว่าจะมีคนที่อ้างแบบนี้ไม่น้อย นอกจากนี้ ยังมาในรูปแบบที่ผสมในอาหาร ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าจะช่วยบรรเทาอาการต่างๆ หรือ เป็นผลดีต่อสุขภาพจริงหรือไม่ แต่ Supply โตขึ้นมหาศาล หากโตเกินความต้องการ อนาคตจะเกิดการลงใต้ดินไปขายที่อื่น ซึ่งจะต้องเฝ้าระวัง”

ส่วนกรณีตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล คิดว่าความหวังจากกรรมการชุดนี้ไม่ได้เยอะมาก เพราะตอนแรกคาดหวังว่าจะได้นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน ดังนั้นช่วงก่อนที่ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … จะออกมา ตนได้หารือกับโรงเรียนแพทย์และ รพ.เอกชนให้เฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนอย่างมาก เก็บทุกเคส เพราะถ้ารอการรายงานจาก สธ.คงยาก หากมีปัญหาเกิดขึ้นแต่ไม่รายงานจะกลายเป็นความชอบธรรมให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และออกมาเบามาก เพราะอ้างได้ว่าขนาดเสรีแล้วยังไม่เห็นมีปัญหาอะไร นอกจากนี้ ยังได้คุยกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม.ให้ช่วยเฝ้าระวังการใช้ในโรงเรียน ดังนั้น เราต้องรวมกลุ่มกันและหาข้อมูลเชิงประจักษ์ชัดเจน

นพ.ฉันชาย ย้ำว่าประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือเยาวชนจะเข้าถึงกัญชาได้มากขึ้น เพราะในกฎหมายไม่ได้มีข้อจำกัดถึงเยาวชน และหากจะรอข้อบังคับที่จะออกมาในอนาคตก็อาจจะช้าเกินไป เพราะการออกกฎหมายมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา ดังนั้นช่วงที่เป็นช่องว่างก่อนที่ข้อบังคับต่างๆ จะออกมา คือช่วงที่ต้องช่วยกันเฝ้าระวังอย่างมาก

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่ผ่านการรับร่างมี 2 ร่าง คือร่างของพรรคภูมิใจไทย คือกัญชาเสรีเลย และร่างของพรรคพลังประชารัฐ เน้นใช้ทางการแพทย์ ขณะนี้มีการตั้งกรรมาธิการ 25 คน แต่ ส.ส.ไม่ยอมให้ทางเราเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ จึงต้องอาศัยการเข้าไปร่วมเป็นที่ปรึกษา ซึ่งมีแล้ว 1 ท่าน ยังเหลืออีก 1 ท่านที่ต้องส่งชื่อเข้าไป อย่างน้อยการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาจะได้เข้าร่วมและให้ความเห็นในที่ประชุมกรรมาธิการ ซึ่งเชื่อว่าเนื่องจากตอนนี้ฟรีอยู่ ต้องมีความพยายามผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ผ่านโดยเร็วแน่นอน ถ้าผ่านออกมาจะเป็นฉบับที่ปล่อยมาก และจะเป็นปัญหามาก

ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กถึงประเด็นกัญชาเสรี สรุปได้ว่า

“ตัวเลขประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากการเปิดเสรีกัญชาจากรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกามาให้ดูกันชัดๆ สรุปสั้นๆ ดังนี้ พบว่าแต่ละครั้งที่รัฐเก็บภาษีได้ 1 ดอลล่าร์จากการขายกัญชาได้ ชาวโคโลราโดจะต้องเสียเงิน 4.5 ดอลล่าร์ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเสรีกัญชา

ราคาค่างวดที่ประชาชนโดยรวมต้องจ่ายไปนั้น จะเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยจากเสรีกัญชาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม รวมถึงความสูญเสียจากการที่เด็กนักเรียนชั้นต่างๆ ต้องออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับมัธยม”

ขณะที่คำถามที่ว่า เสรีกัญชาไปเหอะ...ไม่ต้องกลัวติดยาเสพติด เพราะโอกาสติดน้อยกว่าเหล้าบุหรี่เยอะ ดีไม่ดี จะทำให้สังคมลดปัญหายาเสพติดด้วย ใช่ป่ะ?

“เสียใจด้วยนะครับ ข้อมูลที่เค้ามี ชี้ชัดว่า การใช้กัญชานั้นจะนำไปสู่การใช้ยาเสพติดชนิดอื่น หรือจะมีการเสพยาเสพติดชนิดอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น เหล้า ฯลฯ”

“นอกจากนี้สถิติเล็กๆ ในโคโลราโดคือ ทุกปี จะมีอย่างน้อย 15 คนที่เสพกัญชาผ่านการสูบแล้วเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ระหว่างการเสพจนบาดเจ็บต่อร่างกาย

คนที่เสพกัญชายิ่งบ่อย ยิ่งจะมีแนวโน้มจะแอคทีพน้อยลง พูดง่ายๆ คือมีกิจกรรมทางกายน้อยลง มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง เพราะมัวแต่นั่งฝันหวาน นอนฝันหวาน ฝันถึงสรรพคุณรักษาโรคสารพัดร้อยแปดพันเก้า หรือมีชีวิตเป็นอมตะ สมองไม่เสื่อม ทั้งๆ ที่ยากนักที่จะเป็นจริง และแน่นอนว่าระยะยาวก็ส่งผลต่อสุขภาพและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพตามมา”


https://youtu.be/3631jBNqLDE

คุณอาจสนใจ

Related News