สังคม

'อนุทิน' ชี้ ยอดตายลดเพราะฉีดวัคซีนได้ตามเป้า - 'นพ.โอภาส' ย้ำ ผู้ป่วยสีเขียว รักษาตัวในบ้านได้

โดย thichaphat_d

10 ม.ค. 2565

28 views

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่กลับมาอีกครั้ง หลังเทศกาลปีใหม่ โดยระบุว่า ตัวเลขเพิ่มขึ้น แต่ยอดการเสียชีวิตยังคงที่ แสดงว่าวัคซีนที่นำมาฉีดให้ประชาชนมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยหนัก และป้องกันการสูญเสียได้


ที่ผ่านมา เราฉีดวัคซีนได้ตามเป้า และประชาชนโดยภาพรวมก็ช่วยกันระมัดระวัง ถือว่าได้ช่วยกันประคองสถานการณ์ ต้องขอขอบคุณความร่วมมือที่เกิดขึ้น สำหรับใครถึงคิวรับเข็ม 3 ขอให้มารับบริการได้ทันที


อย่างไรก็ตาม อย่ามองว่าโอมิครอนไม่รุนแรง เพราะในประเทศไทย ยังพบการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาอยู่ วันนี้ ประชาชนตื่นตัวกันมากในเรื่องของการตรวจคัดกรองหาเชื้อ ซุ้่งเป็นเรื่องที่ดี ที่คนไทยไม่ละเลย เพราะการรู้ตัวว่าติดเชื้อเร็ว ก็จะช่วยให้เราระมัดระวังตัวเองเร็วขึ้น ไปจนถึงการเข้าสู่ระบบรักษาเร็ว และทำให้การควบคุมโรคในภาพรวมมีประสิทธิภาพดีขึ้น


ตอนนี้ ได้มอบให้ สปสช. ประสานงานคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มจุดตรวจโควิด-19 เชิงรุก เพื่อสนับสนุนกรุงเทพมหานครและเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน


โดย เริ่มตรวจตั้งแต่วันที่ 11-21 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป ตั้งเป้าตรวจวันละ 1,000 คน จุดตรวจ คือ ลานจอดรถชั้น 1 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ โดย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลจะเป็นผู้ตรวจ เป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.)


“การตรวจหาเชื้อโควิดดังกล่าว จะใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK ที่ขึ้นทะเบียนแบบใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (Professional Use) จะทราบผลตรวจภายใน 30 นาที โดยหากปรากฏว่าผลตรวจเป็นบวกหรือติดเชื้อก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือในระบบชุมชน (Community Isolation)


จากนั้น จะเป็นการพิจารณาของแพทย์ผู้รักษา หากมีอาการมากขึ้น จะให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม จนถึงโรงพยาบาลทั่วๆ ไป ที่มีเครื่องมือพร้อม เรามีระบบที่พัฒนาขึ้นมาจากองค์ความรู้และประสบการณ์ ซึ่งเราจะทำทุกวิถีทาง เพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด”


ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการคาดการณ์สถานการณ์โรคโควิดในประเทศไทยว่า เป็นไปตามกราฟที่แสดงในฉากทัศน์ว่าหลังปีใหม่ จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเราไม่ได้คาดการณ์ว่าอย่างไร จะถึงหมื่นรายวันไหน แต่ตัวเลขเป็นไปตามเส้นกราฟ ซึ่งเราก็พยายามกดให้ตัวเลขต่ำสุด


แต่ต้องรอดูสัปดาห์หน้าอีกครั้งว่า จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างไร เบื้องต้นคาดว่า สธ.จะมีการแถลงรายงานสถานการณ์และรายละเอียดในวันที่ 10 มกราคมนี้ และรวมถึงชี้แจงแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้ออีกครั้งด้วย


เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจะต้องรองรับสถานการณ์อย่างไร


นพ.โอภาสกล่าวว่า ปัจจุบันมีการประเมินสถานการณ์แล้วก็ไม่ถือว่าหนักหรือรุนแรงกว่าครั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเดลตา ซึ่งย้ำว่า ผู้ติดเชื้ออาการไม่หนัก ก็สามารถใช้การรักษาจากที่บ้าน (Home Isolation) เพื่อไม่โหลดภาระของบุคลากรสาธารณสุข และทุ่มเทการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการได้เต็มที่ ซึ่ง ณ ขณะนี้ คนส่วนใหญ่ที่หาเตียง ไม่ค่อยมีอาการ


ตอนนี้ ผู้ป่วยอาการหนักมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ คนใส่ท่อช่วยหายใจลดเหลือร้อยเศษๆ หากทุกคนรักษาด้วยระบบ HI ตามเกณฑ์ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนเรื่องเปิดศูนย์แรกรับดูแลผู้ติดเชื้อ เช่น รพ.บุษราคัม ขณะนี้กรมการแพทย์อยู่ระหว่างเก็บข้อมูล ซึ่งจะแถลงรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง แต่ย้ำว่า หากประชาชนที่ตรวจพบผลบวก สามารถติดต่อที่สายด่วน 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้


เมื่อถามต่อว่า สำหรับคนติดเชื้อไม่มีอาการ จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัส ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาแก้อักเสบ หรือยาฆ่าเชื้อหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า "จริงๆ ถ้าไม่มีอาการอะไรเลย และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง 608 ที่จะมีความรุนแรงของโรค แทบไม่ต้องการยาอะไรเลย อย่างต่างประเทศก็ไม่ได้ใช้ยารักษาคนไม่มีอาการ แต่รายละเอียดเรื่องนี้ทางกรมการแพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลได้ชัดเจน"


ซึ่ง สธ. ก็มีแนวทางการปฏิบัติตัวสำหรับการแยกกักที่บ้าน (HI) ที่สำคัญคือ

1. ทุกคนในบ้านฉีดวัคซีนให้ครบ โดยเฉพาะคนสูงอายุ ที่ต้องฉีดวัคซีนและต้องแยกตัวให้มากกว่าคนอื่น

2.คนติดเชื้อสวมหน้ากากอนามัย โดยย้ำว่าตลอดเวลา

3. แยกใช้ภาชนะ

4. พยายามแยกห้องกันอยู่

เราไม่ต้องกังวลขนาดนั้น ที่จะกีดกันคนติดเชื้อ เราพิสูจน์แล้วว่าเชื้อโอมิครอน ไม่ได้ทำให้อาการหนัก หรือรุนแรงมาก


ส่วนเรื่อง ATK ประชาชนที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจ ถ้าอาการไม่มาก หลังตรวจ ATK ครั้งแรก ให้ตรวจซ้ำในสามวัน 

แต่ถ้าอาการระหว่างนั้นเป็นมากขึ้น หรือเป็นกลุ่มเสียง 608 ให้รีบไป รพ. เพื่อตรวจ RT-PCR โดยแพทย์อีกครั้ง


ถ้าผลตรวจเจอว่าติด ให้ทำ ดังนี้ โทรหา สายด่วน สปสช. กด 1330 แล้วกด 14 หรือถ้ามีอาการ ให้โทร. สายด่วนศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ 1669





รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/o_-1qcGstRs

คุณอาจสนใจ

Related News