เลือกตั้งและการเมือง

ม็อบจะนะฯ ปักหลักรอมติ ครม.พรุ่งนี้ ยืนหยัด 3 ข้อ ค้านนิคมฯ วอนฟังเสียงปชช.

โดย panwilai_c

13 ธ.ค. 2564

35 views

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่ปักหลักอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อรอฟังคำตอบจากรัฐบาล เรียกร้องให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี และเริ่มกระบวนการศึกษา SEA ใหม่ทั้งหมด โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ และตัวแทนพรรคการเมืองร่วมสังเกตการณ์ หวั่นเกิดการสลายการชุมนุม และเรียกร้องให้รัฐบาล รับฟังเสียงของประชาชนเพื่อหาทางออกอย่างสันติ



เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และกว่า 20 เครือข่าย เดินขบวนจากหน้าองค์การสหประชาชาติ ไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น แม้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแผงกั้นเหล็ก ปิดเส้นทางบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ และทางเครือข่ายได้เจรจาแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงต้องใช้เส้นทางผ่านถนนกรุงเกษมมายังแยกเทวกรรมและแยกนางเลิ้ง



จนมาถึงเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมแผงกันเหล็ก มาปิดกั้นทางเข้าประตูหนึ่ง ทำให้มีการเผชิญหน้ากันเล็กน้อยก่อนจะมีการเจรจาให้ผู้ชมนุมรวมตัวอยู่บนถนนพิษณุโลก เพื่อปักหลักรอฟังคำตอบจากรัฐบาลในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้



ซึ่งเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะทั้งหมด แล้วเริ่มกระบวนการศึกษา SEA ใหม่ และมีการยื่นข้อเสนอผ่านการเจรจากับนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปเมื่อวานนี้



แต่ล่าสุดรับทราบข่าวว่า รัฐบาลอาจจะชะลอโครงการ แต่การศึกษา SEA จะให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.ที่มีพลเอกประวิทย์ วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน เป็นผู้ดำเนินการ และนำ SEA ที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเสนอไปประกอบการพิจารณา ทำให้ทางเครือข่ายยอมรับว่า ถ้าไม่เป็นไปตามที่ประชาชนเสนอ อาจทำให้ปัญหายังไม่จบ เพราะไม่สามารถไว้วางใจ กพต. ซึ่งมีเลขาธิการ ศอบต.ที่เป็นคู่ขัดแย้งเป็นเลขานุการ รัฐควรพิจารณาคณะกรรมการศึกษา SEA ตามที่ประชาชนเสนอ เพราะถ้าไม่ได้คำตอบอย่างที่ต้องการ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นยังจะชุมนุมต่อไป และจะมีการยกระดับการชุมนุมโดยมีเครือข่ายประชาชนจากทั่วประเทศมาร่วมด้วย



การชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นวันนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาร่วมสังเกตุการณ์ว่าจะมีความรุนแรงสลายการชุมนุมอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมหรือไม่ ซึ่งเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้ยื่นขอให้คณะกรรมการสิทธิตรวจสอบ มีการสอบข้อเท็จจริงแล้ว รวมถึงโคงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่กรรมการสิทธิ์ เห็นว่ารัฐบาลต้องยุติกระบวนการต่างๆไว้ก่อน โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่เอกชนกำลังดำเนินการในวันนี้ แล้วเริ่มต้นการศึกษา SEA ใหม่ ตามที่ประชาชนเสนอ เพื่อยุติความขัดแย้งที่กำลังบานปลาย



นอกจากนี้ นางเตือนใจ ดีเทศ และนายสุริชัย หวันแก้ว คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ มาร่วมติดตามเพราะห่วงจะเกิดความขัดแย้งเหมือนกรณีท่อก๊าชไทยมาเลซียเมื่อ 21 ปี ก่อน รัฐต้องมีบทเรียนในการรับฟังเสียงของประชาชนให้มากในการสร้างโครงการขนาดใหญ่



ขณะเดียวกันมีตัวแทนพรรคการเมืองเช่น พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย และพรรคประชาชาติ มาร่วมสังเกตุการณ์ด้วย รวมถึงคณะกรรมาธิการ 4 คณะจากสภาผู้แทนราษฎร ที่เห็นว่ารัฐต้องยุติโครงการนี้เพื่อฟังเสียงประชาชนให้รอบด้าน และจากผลการศึกษาพบว่า มติครม.อาจไม่ชอบธรรม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร ได้ยื่นญัตติด่วนตรวจสอบการสลายการชุมนุมและโครงการนี้แล้ว

คุณอาจสนใจ