เลือกตั้งและการเมือง

ศาลยกฟ้อง "มายด์ ภัสราวลี" ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

โดย attayuth_b

13 ธ.ค. 2564

64 views

ศาลพิพากษายกฟ้อง “มายด์ ภัสราวลี” เหตุฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีม็อบ21ตุลา ไปอนุสาวรีย์ กเดินไปทำเนียบให้นายกฯ ลาออก เชื่อมั่น จะเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน


วันนี้ 13 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 น. กรณีศาลแขวงดุสิต นัดอ่านคำพิพากษาคดีในส่วนคดีของ มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร ซึ่งถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 รวมทั้งประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค.63 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมข้อ 1 (ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง) เนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค.63 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือลาออกให้นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล



โดยวันนี้ น.ส. ภัสราวลี เดินทางมาฟังคำตัดสินที่ศาลด้วยตนเองในเวลา 10.05 น. น.ส. ภัสราวลี และให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าห้องพิจารณาว่าระหว่างขั้นตอนการนำสืบก็ได้ยืนยันในหลักการของประชาชนที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกเพราะประชาชนทนไม่ไหวซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนที่ทำได้ ส่วนศาลจะพิจารณาอย่างไรและผลจะออกมาเป็นอย่างไรอยากให้รอติดตามเพราะคดีนี้เป็นคดีแรกที่มีการพิพากษาส่วนของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง และคาดว่าจะส่งผลต่อคดีอื่นๆของเพื่อนด้วย คาดว่าผลการตัดสินสามารถออกได้หลายรูปแบบทั้งในมุมของการได้รับความยุติธรรมและมุมเกมการเมือง เพราะคดีนี้เป็นคดีทางการเมืองที่ไม่ควรถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว



ต่อมาน.ส. ภัสราวลีให้สัมภาษณ์ ภายหลังจากเข้าห้องพิจารณาคดีโดยใช้เวลาประมาณ 40 นาที ระบุว่า ศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องเนื่องจากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร้ายแรงที่มีการประกาศออกมาจะถูกใช้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์นั้นฉุกเฉินและร้ายแรงจริงๆถึงจะบังคับใช้ได้ และการชุมนุมของประชาชนที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่เข้าช่ายการชุมนุมมั่วสุม เพราะการมั่วสุมต้องเป็นการรวมตัวกันและมีเจตนาที่ไม่ดี การชุมนุมวันนั้นเป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ม.44 เป็นการชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถทำได้



น.ส. ภัสราวลี กล่าวอีกว่ามั่นใจว่าคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานส่วนหนึ่งในการตัดสินคดีอีกหลายคดีที่เกี่ยวกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะการชุมนุมของประชาชนเป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญและสามารถพึงกระทำได้ เชื่อว่าคำพิพากษาส่งท้ายปีในครั้งนี้จะเป็นการเติมกำลังใจให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิของตัวเอง เพราะหลังจากนี้ประชาชนจะมาทวงคืนอำนาจของประชาชนเอง

คุณอาจสนใจ

Related News