สังคม

'จะนะรักษ์ถิ่น' ร้อง ศอ.บต. เมินมติ ครม. ส่งเรื่องโยธาฯ ปรับผังเมืองโดยมิชอบ

โดย pattraporn_a

11 ธ.ค. 2564

69 views

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เรียกร้องประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ นำผลสรุปไปพิจารณา ซึ่งระบุว่า การพัฒนาไม่สอดคล้องวิถีชีวิต และ ศอ.บต.ไม่ได้ทำตามมติครม​.ก่อนจะนัดชุมนุมวันที่ 13 ธันวาคมนี้


วันที่ 5 ของการปักหลักชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จัดกิจกรรมสื่อสารกับสังคมเพื่อยืนยันว่า อ.จะนะ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 ตำบล ที่จะใช้เป็นที่ตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ มีฐานทรัพยากรที่มีคุณค่า ไม่ได้เพียงแค่อาหารทะเล แต่สามารถทำการเกษตร ที่มีมากกว่าการปลูกแตงโมอย่างที่ถูกกล่าวอ้าง เช่น คุณค่าทางวัฒนธรรมอาหาร อย่าง ข้าวดอกลาย ที่มีเพียงในตำบลสะกอม เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่นำกะปิ ที่ทำเอง มาตำน้ำพริกกับสมุนไพรที่ปลูกเอง ตำกับครกไม้ และทานกับปลาทอดขมิ้น และผัก สร้างความสนใจให้กับผู้มารับชม รวมถึงเชฟขุนกลาง ที่นำวัตถุดิบมาต่อยอดเป็นเมนูฟิวชั่นอาหารอิตาลี เพิ่มมูลค่าได้อย่างมาก


นอกเหนือจากอาชีพประมงที่ชาวจะนะได้อนุรักษ์ทรัพยากรให้มีพันธุ์ปลามากกว่า 100 ชนิดแล้ว ที่หน้าหาดสวนกง ยังมีโลมา ที่ยืนยันถึงความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติแล้ว รวมถึงนกเขาชวาเสียง ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชาวจะนะมาโดยตลอดทั้งการเพาะพันธุ์นกเขาชวา ราคาตัวละนับล้านบาท และกลายเป็นชื่อดังที่สุดใน 4 ประเทศ หรือแห่งเดียวในโลก ยังมีการผลิตกรงนกเขาที่ราคาแพง สามารถส่งเสริมต่อยอดเป็นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่ดี รวมถึงพื้นที่ภูเขา มีทะเลหมอกให้ชมด้วยที่เขาเจดีย์ควนธง ตำบลน้ำขาวอำเภอจะนะด้วย


ตรงกับผลสรุปข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" ที่มีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรเป็นประธาน ส่งถึงเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เมื่อวันที่ 27 เมษยน 2564 ระบุว่า การจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ชุมชน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ แผนยุทธศาสตร์จังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ ตามมติครม.21 ม.ค.63


และศอ.บต.ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมติครม.เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 ,วันที่ 21 ม.ค.2563 และ วันที่ 18 ส.ค.2563 และการที่ ศอ.บต.ส่งเรื่องให้กรมโยธาธิการและผังมือง ดำเนินการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับแผนเร่งด่วนการลงทุนของภาคเอกชนใน 3 ตำบลของ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นการดำเนินการของ ศอ.บต.เพียงลำพัง โดยมิได้ดำเนินการร่วมกับ สศช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



รวมถึงจากการสอบถ้ามข้อเท็จจริงจากหลายหน่วยงาน ได้รับการยืนยันว่าไม่เคยได้รับการประสานจาก ศอ.บต.เรื่องให้ขอพิจารณาโครงการนี้ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม และ สภาพัฒน์ก็ไม่เคยได้ร่วมจัดทำโครงการ



แต่เนื่องจากผลสรุปของกรรมการชุดนี้เกิดขึ้นขณะร้อยเอกธรรมนัสเป็นประธานและได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จึงห่วงว่าจะโมฆะไปด้วย จึงเรียกร้องไปยังนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำผลสรุปไปพิจารณาก่อนที่จะมีการชุมนุมใหญ่วันที่ 13 ธันวาคมนี้


นอกจากนี้ผลสอบของคณะกรรมการชุดร้อยเอกธรรมนัส สรุปด้วยว่า โครงการนี้ พบว่ามีปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่อ.จะนะ จ.สงขลา เกี่ยวกับการขยายผลโครงการ ซึ่งหากภาครัฐดำเนินการไม่รอบคอบเหมาะสม ย่อมส่งผลกระทบกระเทือนความสามัคคีและความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ โดยได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและ และบัญชาให้ ศอ.บต.ปฏิบัติตามมติครม.อย่างเคร่งครัด ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และ พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธาน กพต.ก็ได้สั่งการให้ ศอ.บต.ทำตามกฏหมายและมติ ครม.ให้หารือ กับ สศช. กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่น เพื่อลดความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ และสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของรัฐบาล แต่ยังพบว่า เอกชนเจ้าของโครการยังมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EHIA ผ่านทางออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 13-23 ธันวานี้ สวนทางกับข้อตกลง mou ที่ทำไว้กับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News