สังคม

"พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน " สวดยับ "พ.ต.ท. ลาออก" ด่าทอใช้ถ่อยคำหยาบคายให้ร้ายองค์กร

โดย narisa_n

10 ธ.ค. 2564

1.7K views

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564  พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 โพสต์เฟซบุ๊กกรณี “วงการสีกากีฉาว พ.ต.ท. เขียนหนังสือลาออก ซัดแสกหน้าบอกนี่มันอาชีพส้น”…”อะไร”เป็นพาดหัวข่าวปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ในหลายเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564



ก่อนอื่นถ้ามีคำพูดดังกล่าวจริงซึ่งกระผมรู้สึกกระดากปากไม่อยากจะพูดซ้ำว่าเป็นคำพูดอะไร? แต่ต้องบอกให้ผู้พูดรีบถอนคำพูด คำว่า “อาชีพส้นตีนอะไร” ถ้ามีการพูด คำพูดดังกล่าวจริง กรมพลตระเวน กรมตำรวจ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานราชการที่มีประวัติมายาวนาน จากการสืบค้นและมีหลักฐานปรากฏในหลักศิลาจารึกว่ามีตำรวจ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.1991 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ตำรวจได้รับการปฏิรูปครั้งสำคัญเมื่อปี พ.ศ. 2404 -2405



ในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ท่าน จึงได้รับการถวายพระนามให้เป็น”พระบิดาแห่งตำรวจไทย” ตำรวจมีหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน โดยมีหน้าที่หลักในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ลักษณะงานที่สำคัญคือ สืบสวน สอบสวน ป้องกัน/ปราบปรามอาชญากรรม และอำนวยความยุติธรรมในทางอาญา



ซึ่งนับว่าเป็นอาชีพราชการที่มีบทบาท หน้าที่และอำนาจที่สำคัญ ในอันที่จะยังประโยชน์สุข สร้างความสงบเรียบร้อย ผดุงความยุติธรรมเบื้องต้นให้กับสังคมจนมีการเปรียบเทียบ “ตำรวจเสมือนเป็นต้นธารแห่งความยุติธรรม” จึงเป็นอาชีพ ที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ที่ใครต่อใครหลายคน อยากที่จะมารับราชการตำรวจ รวมทั้งตัวคุณเองด้วย



และนั่นก็คือเหตุผลที่กระผมขอบอกให้คุณรีบถอนคำพูดที่ไม่เหมาะสมนั้นเสีย คุณอย่าเอาความผิดหวัง ความรู้สึกส่วนตัวมากล่าวหา มาให้ร้ายองค์กรที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี กับการที่ผิดหวังจากคำสั่งแต่งตั้งที่ตัวคุณคิดเอาเองว่า คุณเหมาะสม คุณเก่ง คุณดี คุณซื่อสัตย์สุจริต คุณควรจะได้รับการแต่งตั้ง แล้วมาด่าทอ ใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย สาดใส่องค์กรที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี



คุณเองก็อยู่มาจนเป็นพันตำรวจโท จะมีตำแหน่งใด? อยู่ที่ไหน? ผมไม่ทราบ เพราะในข่าวไม่ลงรายละเอียด กระผมเองเป็นรองผู้บัญชาการอยู่นานถึง 7 ปีเศษ ถูกย้ายจากรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ไปเป็นรองผู้บัญชาการศึกษา โดยไม่มีเหตุผลเป็นเวลา 4 ปี จนเหลือปีสุดท้ายจึงได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เพราะด้วยความอาวุโส ไม่ใช่ปีเดียว 1 ตำแหน่ง แต่กระผมก็ไม่เคยออกมาโวยวาย ไม่เคยกล่าวให้ร้ายองค์กรอันมีเกียรติและศักดิ์ศรีองค์กรนี้ เพราะสมัครใจเข้ามาเป็น เลือกและเต็มใจเข้ามาอยู่ ถ้าส่วนไหนไม่ดีก็ต้องแก้ไข ซ่อมสร้าง ไม่ใช่ทำลาย ในเรื่องของการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชตำรวจ



ในฐานะที่กระผมเป็นหนึ่งในกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่….พ.ศ…. ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา ในวาระที่ 2 และใกล้จะแล้วเสร็จเพื่อเข้าสู่การพิจารณาร่วมของสภาอันเป็นขั้นตอนสุดท้าย การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ จะต้องเป็นระบบคุณธรรม โดยยึดหลักอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน ให้ข้าราชการตำรวจมีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงของบุคคลหนึ่งบุคคลใด โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง ให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ที่พูดมาข้างต้นเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ



สำหรับรายละเอียดร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ กระผมตั้งใจจะเขียนรายละเอียดเป็นตอนๆ ก่อนที่เรื่องนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อทำความเข้าใจให้กับทั้งข้าราชการตำรวจและประชาชนผู้สนใจ แต่เมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อน จึงขอเกริ่นนำโดยย่อ (เรียกน้ำย่อย) ในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ พยายามที่จะไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ให้ได้มากที่สุด เรียกว่าต้องเว้นระยะห่างทางสังคม( Social Distance ) กันพอสมควร ไม่ให้ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. มีอำนาจบทบาทเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่จะกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ กฎ กติกาการแต่งตั้งได้ตามอำเภอใจ(เพื่อสนองความต้องการของใคร? ต่อใคร? ได้ต่อไปอีก)



เพราะจะมีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือเรียกย่อว่า ก.พ.ค.ตร. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระมาจากการสรรหาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากหน่วยงานอื่น มีหน้าที่ในการตรวจสอบ ระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ ก.ตร. กำหนด ว่ามีความถูกต้องเหมาะสมเป็นธรรมหรือไม่ ? และมีหน้าที่รับคำร้องเรียน กรณีที่มีการออกระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกาการแต่งตั้งมาใช้แล้วมีข้าราชการตำรวจเห็นว่าไม่มีความถูกต้อง เหมาะสม เป็นธรรม และมีหน้าที่ในการตรวจสอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าการตำรวจว่าเป็นไปตามระเบียบ กฎเกณฑ์กติกาการแต่งตั้งอย่างครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่



ซึ่งถ้าหากเป็นการแต่งตั้งมีเจตนาไม่สุจริต ในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีบทบัญญัติให้ผู้แต่งตั้งและผู้มีส่วนในการแต่งตั้งมีความผิดในทางอาญา ถึงกับต้องโทษจำคุกเสียด้วยซ้ำ จึงอยากจะให้ข้าราชการตำรวจและสังคมคอยติดตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างไม่กระพริบตา ก็จะรู้ว่าการปฏิรูปตำรวจจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ มีความจริงจังและจริงใจที่จะให้มีการปฏิรูปองค์กรตำรวจจริงหรือไม่?



ตำรวจเองมีหน้าที่ในการให้ความเป็นธรรมกับประชาชน แต่มีตำรวจอีกไม่น้อย ที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้วจะมีความเป็นธรรมที่ไหน ที่จะไปให้กับประชาชน พันตำรวจโทคนนี้ ถ้ายังรับราชการตำรวจอยู่ ก็คงจะไม่มีความเป็นธรรมที่จะให้กับประชาชนได้เพราะตัวเขาเอง เขายังคิดว่าเขาไม่เคยได้รับความเป็นธรรมเลย



อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ปฏิรูปเพื่อตำรวจเท่านั้น ยังมีคณะกรรมการอีก 1 – 2 คณะที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยตรง แต่ยังไม่ขอพูดในที่นี้(ขออุบ)ไว้ก่อน รอเวลาอันเหมาะสมเมื่อเรื่องนั้นๆ จะเข้าสู่การประชุมสภา แล้วจะกลับมาพูดให้ฟังเป็นลำดับไป สำหรับพันตำรวจโท คนนั้นซึ่งกระผมยังไม่ทราบว่าเป็นใคร ? หากตั้งใจแน่วแน่ที่จะลาออกจากราชการ เพื่อไปประกอบอาชีพส่วนตัวและดูแลครอบครัวจริง ก็ขอให้ประสบความสำเร็จทั้งสองประการ เสียดายที่ไม่ได้รอใช้ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ไปพร้อมกัน ขอโทษพูดผิด (เพราะกระผมเกษียณราชการไป 5 – 6 ปีแล้วครับ)

คุณอาจสนใจ