สังคม

กรมวิทย์ฯ เผย ผลวิจัยฉีดวัคซีนชั้นผิวหนังกระตุ้นภูมิสู้สายพันธุ์เดลต้าได้

โดย narisa_n

22 ก.ย. 2564

89 views



22 ก.ย. 64 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในชั้นผิวหนัง เป็นการวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และกรมการแพทย์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ภายใต้ MOU ที่ทำกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งโดยทั่วไปการฉีดวัคซีน มี 3 ลักษณะ คือ


- การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ อย่างเช่น วัคซีนโควิด วัคซีนพิษสุนัขบ้า


- การฉีดวัคซีนเข้าชั้นใต้ผิวหนัง เช่น วัคซีนหัด คางทูม


- การฉีดวัคซีนในชั้นผิวหนัง เช่น วัคซีนวัณโรค และวัคซีนพิษสุนัขบ้าก่อนหน้านี้ก็เคยมีการใช้วิธินี้แล้ว แต่การฉีดวัคซีนลักษณะนี้มีความยากกว่าวิธีอื่นๆ ผู้ให้บริการต้องมีทักษะความชำนาญมาก




นายแพทย์ศุภกิจ ระบุว่า ตอนนี้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในชั้นผิวหนัง ยังเป็นการดำเนินงานในการวิจัย โดยใช้อาสาสมัครจำนวนหนึ่ง มารับบูสเตอร์เข็มที่ 3 ซึ่งจัดการทดลองฉีดวัคซีนใน 2 แบบ คือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และฉีดในชั้นผิวหนัง หลังจากฉีดแล้ว 14 วัน ทำการเก็บข้อมูลพบว่า ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง มีอาการเฉพาะจุดที่ฉีด คือผื่นแดง แต่อาการข้างเคียงต่อระบบร่างกายจะมีอาการน้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนการตรวจวัดภูมิคุ้มกัน พบว่า สามารถป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ดี ทั้งนี้การฉีดวัคซีนในชั้นผิวหนังพบว่าใช้ปริมาณวัคซีนน้อยกว่าแบบอื่นๆ และวิธินี้ใช้เฉพาะการฉีดเข็มบูสเตอร์เท่านั้น






ด้าน ดร.นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ อาจารย์สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์และวิศวกรรมชีวการแพทย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันในร่างกายของตนมีอยู่ 2 ชนิด โดยการทดลองเป็นการทดลองการใช้วัคซีนฉีดที่ทีเซลล์ โดยจากการฉีดวัคซีนใต้ผิวหนังพบว่ามีภูมิเพิ่มขึ้นร้อยละ 52 และภูมิกล้ามเนื้อ มีภูมิเพิ่มขึ้น 55 โดยพบว่าภูมิคุ้มกันของการฉีดทั้ง 2 แบบ มีค่าใกล้เคียงกัน ผลข้างเคียงฉีดเข้ากล้ามเนื้อ พบร้อยละ 30 ผลข้างเคียงฉีดใต้ผิวหนัง พบร้อยละ 5 ส่วนอาหารปวดบวมแดงร้อนภายหลังการฉีด สามารถหายได้เองใน 7 วัน








อย่างไรก็ตาม นพ.ศุภกิจ ยืนยันว่า การฉีดป้องกันโควิด-19 ในตอนนี้ยังเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้ออยู่ แต่หากในพื้นที่ไหนมีเจ้าหน้าที่ชำนาญการ มีความพร้อม ก็ต้องให้ทางกรมควบคุมโรคประเมินก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้

คุณอาจสนใจ

Related News