สังคม

รมว.ศึกษาฯ รับผลวิจัย “นักเรียนเครียด การบ้านเยอะ เด็กเนือยนิ่ง” จากการเรียนออนไลน์

โดย thichaphat_d

24 ส.ค. 2564

19 views

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงผลการวิจัยของศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมและผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ ซึ่งพบว่า จำนวนการบ้านมากขึ้น, เด็กมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง, เครียด และวิตกกังวล โดยเฉพาะนักเรียนชั้น ป.6 เตรียมศึกษาต่อ ม.1 และ ม.6 เตรียมศึกษาต่อมหาวิทยาลัย เพราะกังวลว่าจะไม่มีโรงเรียนที่ดีรับเข้าเรียน


โดย รมว.ศึกษธิการ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนออนไลน์ เช่น นโยบายลดภาระผู้เรียน ทั้งสายสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา โดยให้ปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ต้องรู้ ลดเวลาเรียนหน้าจอ, ให้การบ้านเท่าที่จำเป็น


โดยครูแต่ละวิชาร่วมบูรณาการในการให้การบ้าน, การวัดและประเมินผลเน้นหลักฐานการเรียนรู้มากกว่าการสอบ, เลิกใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เป็นองค์ประกอบของผลการตัดสินการจบการศึกษาและการเข้าศึกษาต่อทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา เป็นต้น


นางสาวตรีนุช กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด บีบบังคับให้การศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งการสอนออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งที่ต้องนำมาใช้จัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนในสถานการณ์นี้ ทำให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองบางส่วนไม่สามารถปรับเปลี่ยนตนเองได้ทัน ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ ซึ่ง ศธ. ทราบปัญหาเหล่านี้ จึงมีนโยบาย มาตรการ และแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ทุกกลุ่มมาโดยตลอด


“สถานศึกษาบางแห่งก็ปรับได้เร็ว แต่บางแห่งก็ไม่ปรับตัว จัดตารางสอนออนไลน์เหมือนที่เรียนในโรงเรียน ไม่ลดเวลาเรียน ครูยังให้การบ้านนักเรียนจำนวนมาก ซึ่งได้สั่งการไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)


ให้กำชับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาติดตามสถานศึกษาเป็นรายโรงเรียนว่า ได้ปฏิบัติตามนโยบายลดภาระผู้เรียนหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง สพฐ. และ สอศ. ได้ประกาศแนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอน การวัดและการประเมินผลที่ยืดหยุ่นในสถานการณ์โควิดไปแล้ว โดยหลังจากนี้เวลาเรียนหน้าจอและการบ้านของนักเรียนต้องลดลงอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม” รมว.ศึกษาธิการกล่าว


นางสาวตรีนุช กล่าวด้วยว่า เร็วๆ นี้ จะเปิดช่องทางรับฟังปัญหาจากครูโดยตรง เพื่อให้ครูสามารถสะท้อนปัญหาการทำงานที่เกิดขึ้นจริงในบริบทที่แตกต่างกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะรับไปพัฒนาแนวทางช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับแต่ละบริบทต่อไป


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/SD_YSqUw4no

คุณอาจสนใจ

Related News