สังคม

สธ.แจงแนวทางการให้วัคซีน "ไฟเซอร์" แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า 7 แสนโดส

โดย panisa_p

2 ส.ค. 2564

159 views

วันนี้ (2 สิงหาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 (Pfizer) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะประธานคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา แถลงข่าวการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส


นพ.สุระ กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 จำนวน 1,503,450 โดส คณะกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 (Pfizer) ได้พิจารณาจัดสรรวัคซีนไปยังบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ครอบคลุมทั้งผู้ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิด 19 โดยตรง และผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 ทั่วประเทศ จำนวน 7 แสนโดส, ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ที่อยู่ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด 645,000 โดส, ชาวต่างชาติ ที่เป็นผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย


รวมถึงคนไทยที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา 150,000 โดส, เพื่อศึกษาวิจัย 5,000 โดส และสำหรับควบคุมการระบาดจากสายพันธุ์เบต้า 3,450 โดส ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดลำดับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในระยะนี้ หากมีวัคซีนเพิ่มเติมหรือส่วนต่างจากการจัดสรรจะมีการจัดสรรอีกครั้ง ทั้งนี้ หากมีรายชื่อตกหล่นหรือยังไม่ได้รับวัคซีนขอให้แจ้งมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในกทม.แจ้งยังสำนักอนามัย เพื่อกระจายวัคซีนไปยังหน่วยฉีดต่อไป


นพ.โอภาส กล่าวว่า วันนี้สถานทูตสหรัฐอเมริกาได้ส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์บริจาค จำนวน 1,503,450 โดส อย่างเป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาล สำหรับการจัดสรรวัคซีนนั้นที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 มีมติ เรื่องคำแนะนำการให้วัคซีนโควิด 19 ไฟเซอร์ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 7 แสนโดส


โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าจากทั่วประเทศทุกคน รวมทั้งนักศึกษา และเจ้าหน้าที่ที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิด 19 จากการปฏิบัติงาน เช่น แผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยใน คลินิกทางเดินหายใจ ห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยวิกฤต รพ.สนาม เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่กักกัน กลุ่มอาสาสมัครกู้ภัย พนักงานเก็บศพ หรือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 อื่นๆ ตามการพิจารณาของสถานพยาบาลหรือหน่วยงานต้นสังกัด โดยมีหลักการให้วัคซีนดังนี้


บุคลากรที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์กระตุ้น 1 เข็ม บุคลากรที่ได้รับวัคซีนมาแล้ว 1 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดสตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก ผู้ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ และผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด 19 และไม่เคยได้วัคซีนมาก่อน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยมีระยะห่างจากวันที่ พบการติดเชื้ออย่างน้อย 1 เดือน


นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เคยได้รับวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกและแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 หรือสูตรสลับไขว้, วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม, วัคซีนซิโนแวค 2 เข็มและได้รับเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม คณะอนุกรรมการฯ ยังไม่แนะนำให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น เนื่องจากการฉีดทั้ง 3 แบบ ยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับที่สูงเพียงพอ โดยให้ขึ้นทะเบียนรายชื่อไว้ เมื่อมีข้อมูลวิชาการสนับสนุน และมีวัคซีนที่เข้ามาเพิ่มขึ้น คณะกรรมการฯ จะพิจารณาฉีดให้ต่อไป เพื่อให้บุคลากรด่านหน้ามีภูมิคุ้มกันเพียงพอ ปฏิบัติหน้าที่อย่างมั่นใจ ให้ประชาชนปลอดภัย ระบบดูแลรักษาผู้ป่วยไม่หย่อนลง


ด้านพล.อ.ต. นพ.อิทธพร กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนแพทยสภา และทั้ง 7 สภาวิชาชีพขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการวัคซีนฯ ที่แสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง พิจารณาบริบทของประเทศไทย และรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันปกป้องวงการแพทย์ให้ได้รับความปลอดภัย ทั้ง แพทย์ พยาบาลผู้ปฏิบัติหน้าลงพื้นที่เชิงรุก บุคลากรทุกระดับ รวมถึงประชาชน ที่ต้องต่อสู้กับโควิด 19 ซึ่งการดำเนินงานอยู่ภายใต้หลักฐานทางวิชาการ นำไปสู่การวางแผนการและกระจายวัคซีนไฟเซอร์ด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เกิดความคุ้มค่า


ส่วนบุคลากรที่เพิ่งได้รับการฉีดบูสเตอร์โดสนั้น กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยและได้ติดตามหากมีข้อมูลทางวิชาการยืนยัน มั่นใจได้ว่าจะได้รับการฉีดไฟเซอร์ในอนาคตแน่นอน ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัย สำหรับสมาชิกแพทยสภาที่ลงทะเบียนรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเข็ม 3 หากจะปรับเปลี่ยนสามารถแจ้งความประสงค์ได้ในเฟซบุคของแพทยสภา

แท็กที่เกี่ยวข้อง  สธ. ,ไฟเซอร์ ,จัดสรรวัคซีน

คุณอาจสนใจ

Related News