สังคม

ปลัด สธ. ใช้ Bubble and Seal ควบคุมโควิด-19 โรงงานแปรรูปไก่ เฝ้าระวังพื้นที่โดยรอบ ป้องกันการแพร่เชื้อในครอบครัว

โดย thichaphat_d

31 พ.ค. 2564

118 views

วันนี้ (31 พ.ค.) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พูนลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โรคโควิด19 ในโรงงานแปรรูปไก่ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้ปิดโรงงานเพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2564 คาดว่าจะเปิดโรงงานในวันที่ 4 มิถุนายน นี้


นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ทำให้เห็นสภาพปัญหาของการแพร่ระบาดในโรงงานแปรรูปไก่ ซึ่งข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ตรวจหาเชื้อทั้งหมด 4,863 ตัวอย่าง พบผู้ติดเชื้อ 427 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดไม่แสดงอาการ เข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว


รวมทั้งได้ศึกษาสภาพแวดล้อมของโรงงานและการอยู่อาศัยของพนักงานพบว่า โรงงานแปรรูปไก่แห่งนี้เป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีพนักงาน 5,905 คน มีหอพักของพนักงานอยู่ใกล้โรงงาน 2 แห่ง แรงงานต่างชาติทั้งหมด 1,669 คนและแรงงานไทยประมาณ 500 คนพักในหอพัก ที่เหลือประมาณ 3,000 คน เป็นผู้ทำงานไป-กลับ ในจังหวัดสระบุรี และโดยรอบรวม 9 จังหวัด บางส่วนเดินทางด้วยรถขนส่งของบริษัทที่จัดไว้ให้


นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ชี้แจงทำความเข้าใจและวางแผนร่วมกับผู้ประกอบการ นำมาตรการ Bubble and Seal ไปปรับใช้ให้เหมาะสม เร่งควบคุมและจำกัดวงการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็ว รวมถึงการบริหารจัดการกลุ่มแรงงานที่เข้าไปทำงาน ป้องกันความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อ เป็นการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้


โดยจะให้เริ่มในกลุ่มแรงงานที่อยู่หอพักและเดินทางไปกลับด้วยรถรับส่งของโรงงาน ที่ได้รับการตรวจแล้วว่าไม่มีการติดเชื้อหรือมีภูมิคุ้มกันแล้ว และเคร่งครัดมาตรการองค์กร มาตรการส่วนบุคคล DMHTT รวมทั้งให้เฝ้าระวังการแพร่เชื้อไปสู่ครอบครัวจากกลุ่มคนงานที่เดินทางไป-กลับบ้าน เบื้องต้นพบแล้วใน 3 ครอบครัว นอกจากนี้ แจ้งให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอื่นๆ 8 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง ลพบุรี นครนายก นครราชสีมา ที่มีพนักงานเดินทางมาทำงาน เพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด


สำหรับด้านการรักษา ได้เตรียมโรงพยาบาลสนามเจ็ดคต จำนวน 160 เตียง และโรงพยาบาลสนามตะกุด เฟสแรก 250 เตียง ขยายได้ถึง 500 เตียงรองรับผู้ป่วยที่มีการเล็กน้อย และโรงพยาบาลพระพุทธบาท โรงพยาบาลเกษมราษฎร์สระบุรีสำหรับผู้ป่วยอาการปานกลาง และผู้ป่วยอาการหนัก หรือปอดอักเสบ ส่งโรงพยาบาลสระบุรี

คุณอาจสนใจ

Related News