พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด

โดย kodchaporn_j

20 พ.ค. 2564

40 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด


วันนี้ เวลา 10.22 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด


โอกาสนี้ทรงเปิดหอโหวดร้อยเอ็ด ซึ่งตั้งอยู่หน้าบึงพลาญชัย เป็น 1 ใน 3 ของการดำเนินงานพัฒนาสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด เพื่อสร้างการจดจำ และเป็นเอกลักษณ์ของเมือง ด้วยการนำโหวด เครื่องดนตรีพื้นบ้านประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่คิดค้นและพัฒนาโดยนายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2562 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน) มาสร้างเป็นหอสูงชมเมืองรูปทรงโหวด บนเนื้อที่ 124 ไร่ ความสูง 101 เมตร เทียบเท่าอาคารสูง 35 ชั้น สร้างเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2563


ในการนี้ ทอดพระเนตรภายในหอโหวดชั้น 2 ที่เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องโหวด ซึ่งปรากฏในวรรณกรรมพื้นบ้านอีสาน เรื่องพญาคันคาก ที่บอกเล่าถึงความเชื่อของชาวบ้าน เรื่องพญาแถน หรือพญานาค โดยเชื่อว่าการแกว่งโหวดไปมาให้เกิดเสียงดัง เป็นการส่งสัญญาณถึงพญาแถน เพื่อขอให้ฝนหยุดตก เมื่อได้รับน้ำฝนเพียงพอแล้ว


ทั้งนี้ โหวดเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน ประเภทเครื่องเป่า เสียงของโหวด เกิดจากการเป่าลม ผ่านรูด้านบนลูกโหวดที่ติดอยู่รอบแกน โหวดที่พบในปัจจุบันมีรูปทรง 2 ลักษณะ คือ โหวดทรงกลม กับโหวดแผง


จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังชั้น 35 ทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประทานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อปี 2563 อัญเชิญมาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการะ และพระพุทธมิ่งเมืองมงคล พระพุทธรูปประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ขนาดหน้าตัก 13.8 นิ้ว ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2367


นอกจากนี้ ที่ฝาผนังและเพดาน ยังจัดแสดงภาพวาดเหล่าชุมนุมเทวดา ที่มาฟังเสียงสวดมนต์ ภาพดาวเพดาน 11 ดวง ตามความหมายเมืองสาเกต หรือเมืองร้อยเอ็ด และภาพวาดรวมเอกลักษณ์ของจังหวัด


ต่อจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังชั้น 34 ซึ่งเป็นจุดชมวิวนอกอาคาร แบบ 360 องศาที่เป็นพื้นกระจก และเพิ่มเส้นทางขึ้นลงให้กับนักท่องเที่ยวด้วยการนั่งกระเช้าอีกทางหนึ่ง ส่วนชั้น 33 ทอดพระเนตรนิทรรศการเคลื่อนที่ เรื่อง "มองสยาม ตามรอยพระปกเกล้า" 2564 จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า ระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม ถึง 31 กรกฎาคม 2564 และชั้น 31 เป็นจุดชมวิวภายใน 360 องศาเมืองร้อยเอ็ด


ต่อมาเวลา 12.56 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการทหารพันธุ์ดี มณฑลทหารบกที่ 27 ค่ายประเสริฐสงคราม ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าร่วมโครงการ เมื่อปี 2563 โดยส่งกำลังพลเข้ารับการฝึกอบรม ที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย และศึกษาดูงานโครงการทหารพันธุ์ดีในพื้นที่ภาคเหนือ


ที่ผ่านมาได้มอบเมล็ดพันธุ์พระราชทาน แก่พลทหารกองประจำการ ที่รับราชการครบตามวาระ 427 นาย และขยายผลไปสู่ชุมชน 4,270 คน , ชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัย จำนวน 2 โรงเรียน และมอบเมล็ดพันธุ์พระราชทานให้สัสดีอำเภอ นำไปมอบให้ผู้ประสบภัยพิบัติ เช่น วาตภัย, อัคคีภัย จำนวน 242 ราย ในการนี้ทรงปล่อยปลานิลจิตรลดา ซึ่งกรมประมงน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย จำนวน 999 ตัว


จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการ ของโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งมีโครงการแปรรูปสมุนไพร ให้เป็นน้ำมันนวดหอมระเหย และลูกประคบเพื่อบำบัดผู้ป่วย และโครงการอาชาบำบัด เพื่อเพิ่มพัฒนาการด้านร่างกาย และจิตใจ รักษาเด็กพิเศษ


โอกาสนี้ พระราชทานเครื่องมือทางการแพทย์ ประกอบด้วย เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพอัตโนมัติ และเครื่องช่วยหายใจ แก่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งพระราชทานงบประมาณ จากกองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด-19 (และโรคระบาดต่างๆ) จัดซื้อ เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 พร้อมทั้งพระราชทานเมล็ดพันธุ์ผัก เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมของโครงการฯ


สำหรับโครงการทหารพันธุ์ดี มณฑลทหารบกที่ 27 ดำเนินงานในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และพื้นที่ว่างเปล่าในสวนสุขภาพชุมชน รวม 71 ไร่ มีกำลังพลอยู่ประจำโครงการฯ 25 นาย และกำลังพลของหน่วยทุกนาย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาศึกษาเรียนรู้ โดยได้รับการฝึกอบรม เรียนรู้การปลูกผักปลอดภัย ตั้งแต่การเตรียมแปลง จนถึงเก็บเกี่ยว รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิต และขยายผลสร้างเครือข่ายหลังปลดประจำการ ตลอดจนผลิตเมล็ดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ หรือสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ


ผลผลิตที่ได้นอกจากจะนำไปประกอบเลี้ยงในหน่วย และจำหน่ายให้ชุมชนรอบค่ายแล้ว ยังแจกจ่ายให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย


นอกจากนี้ยังดำเนินกิจกรรมเป็นแหล่งเรียนรู้ อาทิ การทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน , การเพาะเลี้ยงเห็ดป่าธรรมชาติ , การเลี้ยงกุ้งฝอย หอยขม , การบำบัดน้ำเสียในลำห้วยเหนือ โดยใช้พืชธรรมชาติแบบบึงประดิษฐ์, ซึ่งล้วนก่อให้เกิดองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน


จากนั้น เวลา 14.34 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังกองพลทหารราบที่ 6 ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อำเภอศรีสมเด็จ ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการทหารพันธุ์ดี ซึ่งได้รับคำแนะนำจากมูลนิธิชัยพัฒนา ให้ทดลองศึกษาการเพาะพันธุ์ปลานิลจิตรลดา ปลาน้ำจืดที่นิยมของท้องตลาด จึงส่งกำลังพลไปศึกษาดูงานในหลายพื้นที่ แล้วนำข้อดีข้อเสีย ของแต่ละแห่งมาประยุกต์


โดยปี 2563 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้ง "ศูนย์เพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" พื้นที่อีสานใต้ การดำเนินการจึงเริ่มต้นด้วยการเพาะเลี้ยงปลาในบ่อดิน 70 กระชัง บ่อซีเมนต์ 10 บ่อ ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด , สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ทดลองเลี้ยงในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถส่งมอบปลานิลจิตรลดาพระราชทาน แก่ราษฎรในพื้นที่แนวชายแดนอีสานใต้แล้วกว่า 1,200,000 ตัว


นอกจากนี้ ยังดำเนินโครงการ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" โดยเข้าไปฝึกอบรมปลูกผักปลอดภัยในพื้นที่ชายแดน พร้อมสำรวจความต้องการเมล็ดพันธุ์พระราชทาน รวมถึงดำเนินกิจกรรมโครงการทหารพันธุ์ดี "ชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัย" ที่โรงเรียนบ้านหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี และมีแผนขยายผลไปยังโรงเรียนบ้านดงนา กับโรงเรียนบ้านโหง่นขาม


สำหรับการจัดตั้งศูนย์ผลิตพันธุ์สัตว์ปีกพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" พื้นที่อีสานใต้ ได้ทดลองเลี้ยงใน 2 ลักษณะ คือ การเลี้ยงในโรงเรือนแบบปิด 22 โรง และการเลี้ยงแบบปล่อยฝูง 8 โรง มีพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ไก่ประดู่หางดำ 202 ตัว และพ่อพันธุ์–แม่พันธุ์ไก่เหลืองหางขาว 198 ตัว ทดลองเลี้ยงด้วยอาหารชนิดต่างๆ เพื่อลดต้นทุน โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น อาทิ สูตรอาหาร 4 ส่วน ใช้ข้าวที่เหลือในครัวเรือน , ต้นกล้วยสับ และรำหยาบ ปัจจุบันได้ส่งมอบแก่ประชาชนตามแนวชายแดนอีสานใต้


โอกาสนี้ ทรงระนาดเอก ร่วมกับศิลปินพื้นบ้าน เพื่อเป็นสัญญาณในการพระราชทานอาหารไก่ในโรงเรือน ทั้งนี้กองพลทหารราบที่ 6 มีภารกิจในการจัดกำลังพล ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดน จึงนำโครงการฯ ไปขยายผล โดยขอพระราชทานเมล็ดพันธุ์ผัก เป็ด ไก่ ปลา และกิ่งพันธุ์ไม้ผล ไปมอบแก่ประชาชน นับเป็นเครื่องมือในการเข้าถึง และช่วยเหลือให้ประชาชนมีความมั่นคงทางอาหาร และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


โอกาสนี้ ได้มีพระราชดำรัส กับคณะทำงานโครงการทหารพันธุ์ดี ว่า ทรงดีใจที่ได้ไปดูงานของทหารพันธุ์ดีอย่างจริงจัง หลังจากทรงประสบอุบัติเหตุเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้ทรงพระดำเนินไม่ได้เป็นเวลา 4 เดือน ซึ่งทรงให้กำลังใจการดำเนินของโครงการ โดยการทอดพระเนตรผ่านออนไลน์ต่อเนื่อง


Related News