สังคม

ชาวบ้านแม่สามแลบ ร้องผู้ว่าฯ เปิดจุดผ่อนปนแม่น้ำสาละวิน หลังกระทบสู้รบ-โควิด

โดย pattraporn_a

11 พ.ค. 2564

37 views

ชาวบ้านแม่สามแลบ เรียกร้องผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้พิจารณาเปิดจุดผ่อนปรนทางการค้า และการแล่นเรือในแม่น้ำสาละวิน ให้ประชาชนได้ค้าขายบ้าง หลังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งจากการสู้รบและสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ผู้อพยพจากรัฐกะเหรี่ยงอีกว่า 1 พันคน ต้องการอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวจนกว่าการสู้รบจะยุติ


ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งจุดตรวจที่หน้า อบต.บ้านแม่สามแลบ ตรวจสอบรถเข้า-ออก หลังมีกระแสข่าวว่า จะมีบุคคลแปลกหน้า ที่สงสัยว่าจะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF กว่า 100 นาย เดินทางจาก อ.แม่สอด จ.ตาก เตรียมเข้ามาในพื้นที่เพื่อเสริมกำลังให้ฐานทหารเมียนมา ริมแม่น้ำสาละวิน


ซึ่งเครือข่ายประชาชนมีการแชร์ข้อความแจ้งเตือนในโซเซียลมีเดีย ทำให้ชาวบ้านต้องเฝ้าระวัง เพราะไม่อยากให้มีการสู้รบเกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะหากทหารเมียนมา จะยึดฐานซอแลท่า ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามบ้านแม่สามแลบได้อีก ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงกับชาวบ้าน ที่ผ่านมากว่า 20 ปี การมีฐานทหารเมียนมา อยู่ตรงข้ามทำให้ชาวบ้านไม่มั่นใจในความปลอดภัย การที่ทหาร KNU ยึดฐานพม่าได้เมื่อวันที่ 27 เมษายน แม้ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพจากการสู้รบ แต่เชื่อว่าจะเป็นผลดีในระยะยาว ชุด ชรบ.จึงมีการเฝ้าระวัง ป้องกันไม่ให้บุคคลแปลกหน้าเข้ามาในพื้นที่ได้ รวมถึงเป็นการช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับชาวบ้านท่าตาฝั่ง ที่อยู่ตงข้ามฐานดา-กวิน ของทหารเมียนมา ที่ยังไม่ถูกยึดจากทหาร KNU ด้วย


สำหรับบ้านแม่สามแลบ มีคำสั่งจากศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน ให้ปิดจุดผ่อนปรนการค้า และหยุดการแล่นเรือในแม่น้ำสาละวิน จากสถานการณ์สู้รบ จนถึงวันนี้ผ่านมา 14 วันแล้ว ชาวบ้านได้กลับมาอาศัยในบ้านได้ตามปกติ แต่ยังไม่สามารถทำการค้าได้ และเริ่มส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการค้า ที่ปกติจะมีการส่งสินค้าทางเรือ เมื่อเรือหยุดวิ่งทำให้คนขับเรือขายรายได้ คนทำสวนก็ไม่สามารถขายพืชผลการเกษตรได้ จึงคาดหวังว่าจะให้สถานการณ์สงบโดยเร็ว หรือทางการไทย หาแนวทางเจรจา ไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนไทย


สำหรับสถานการณ์ผู้อพยพจากรัฐกะเหรี่ยง ล่าสุดศูนย์สั่งการชายแดนไทยเมียนมา รายงานว่า คณะทำงานของ จ.แม่ฮ่องสอน ทราบถึงข้อเท็จจริงของสถานการณ์ จึงทำให้ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาส่วนใหญ่ เกิดความมั่นใจในความปลอดภัย และได้เดินทางกลับไปยังฝั่งเมียนมา เพื่อเตรียมการเพาะปลูในฤดูกาลต่อไป ทำให้ราษฎร ชาวเมียนมาที่พักในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 2 แห่ง คงเหลือ 38 คน ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณ ห้วยอีนวล ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จำนวน 17 คน และพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณห้วยโกเฮ จำนวน 21 คน เท่านั้น


แต่จากการสำรวจของ ข่าว 3 มิติ พบว่า ยังมีผู้อพยพอีกกลุ่มใหญ่ ที่มาจากบ้านเดปูโน่ว ฐานกองพล 5 เขตมรือตรอ รัฐกะเหรี่ยง ยังหนีภัยการสู้รบอยู่ริมน้ำสาละวินของไทย จำนวน 1,058 คน เป็นผู้หญิง 539 คน ผู้ชาย 519 คน จำนวน 149 ครัวเรือน ไม่ได้นับรวมอยู่ในตัวเลขของทางการไทย จึงเป็นห่วงว่าจะถูกตัดขาดการช่วยเหลือ เนื่องจากเป็นจุดที่อยู่ห่างไกลจากบ้านแม่สามแลบ ไปทางเหนือ ตรงข้ามบ้านแม่หนึท่า หากมีการปิดจุดผ่อนปรนการค้าและการหยุดแล่นเรือ ทำให้ไม่สามาถหาซื้ออาหาร และยารักษาโรคต่างๆ เนื่องจากบ้านเดปูโน่ว อยู่ห่างจากแม่น้ำสาละวินกว่า 20 กิโลเมตร


หากชาวบ้านถูกผลักดันกลับ อาจต้องเดินเท้าเกือบ 3 วัน และผู้อพยพกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ เป็น เด็กแรกเกิด เด็กเล็ก เด็กที่มีอาการป่วยเป็นโรคท้องร่วง เสี่ยงต่อไข้มาลาเรีย รวมทั้งมีคนพิการ หญิงตั้งครรภ์ และคนชรา จำนวนมาก หากเจ็บป่วยจะสามารถร้องขอความช่วยเหลือได้ง่ายกว่า กลับไปหมู่บ้านเดปูโน่วซึ่งเป็นศูนย์กลางการถูกโจมตีทางอากาศของเมียนมา ชาวบ้านกลุ่มนี้จะต้องการขอความช่วยเหลือจากทางการไทยขอพักพิงเป็นการชั่วคราวเท่านั้น


ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มีความเห็นว่า การส่งกลับผู้หนีภัยในขณะที่ยังมีการสู้รบอยู่นั้น ผิดหลักการการไม่ผลักดันกลับ ตามจารีตประเพณีระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยควรมีท่าทีที่ชัดเจนในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยให้องค์กรระหว่างประเทศ เช่น กาชาดสากล และ UNHCR เข้ามาช่วยดำเนินการได้ และควรตั้งคณะทำงานจากฝ่ายต่างๆ มาสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางทหารกับหลักการมนุษยธรรม ไม่เอนเอียงไปในทงสนับสนุนเผด็จการทหารเมียนมา ซึ่งทั่วโลกคาดหวังให้ไทยเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านด้วย



คุณอาจสนใจ

Related News