สังคม

'หมอประสิทธิ์' เตือนโควิดขาขึ้น ยอดติดเชื้อพุ่งทั่วโลก เฝ้าระวังการกลายพันธุ์ในไทย

โดย thichaphat_d

28 เม.ย. 2564

1.6K views

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้แถลงผ่านเฟซบุ๊กโดยเปิดเผยว่าองค์การอนามัยโลกได้เฝ้าติดตามสถานการณ์การติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลก


สิ่งที่เริ่มส่งสัญญาณที่ผ่านมาคือ 8 สัปดาห์ต่อเนื่องที่เกิดการติดเชื้อมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันอัตราการเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 5 สัปดาห์ โดยองค์การอนามัยโลกได้เฝ้าติดตามเรื่องนี้อยู่ระยะเวลาหนึ่งและถึงจุดที่คิดว่าจะต้องออกมาเตือนแล้ว


ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กว่า 3 ล้านคน ตัวเลขที่เราเห็นช่วงที่ผ่านมาพบว่า 9 เดือนแรกมีผู้เสียชีวิต 1 ล้านคน ผ่านไปอีก 4 เดือน มีคนเสียชีวิตอีก 1 ล้านคน และล่าสุดใช้เวลาเพียง 3 เดือนมีผู้เสียชีวิต 1 ล้านคน หมายความว่าเรากำลังพบกับอุบัติการการเสียชีวิตที่เร็วขึ้น


ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกบอกอีกว่าขณะนี้ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงอายุที่น้อยลง เช่นเดียวกันกับประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อช่วงอายุ 20-29 ปี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาจเป็นเพราะกลุ่มช่วงวัยเหล่านี้ยังต้องออกไปทำงานนอกบ้านหรือออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านจึงทำให้เกิดการติดเชื้อและเสียชีวิต


ขณะที่เรื่องการการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดจากสายพันธุ์ใหม่ เช่น สายพันธุ์สหราชอาณาจักร เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิมพบว่าแพร่กระจายเร็วขึ้น เดิมพบว่าไม่เพิ่มความรุนแรง แต่รายงานล่าสุดจากสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่าอาจทำให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งสายพันธุ์นี้มีกำลังระบาดในประเทศไทยแล้ว


จากข้อมูลศิริราชพบว่า ผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษา 1 ใน 4 มีภาวะปอดอักเสบมากขึ้น รวมถึงต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้นด้วย เช่นเดียวกับในโรงพยาบาลหลายแห่ง ที่ต้องเพิ่มจำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยวิกฤต เตียงอาจจะขยายได้แต่คนที่จะดูแลอาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งต้องใช้ผู้เชียวชาญในการดูแลเฉพาะ


ส่วนข้อพึงระวังของประเทศไทยสำหรับการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่สำคัญ คือ สายพันธุ์ b.1.1.7 สายพันธุ์สหราชอาณาจักร เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม พบว่าแพร่ระบาดกระจายเร็วขึ้นแต่ไม่พบว่ามีความรุนแรงมากขึ้น โดยรายงานล่าสุดจากสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่าอาจทำให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น สายพันธุ์นี้มีการระบาดในประเทศไทยแล้ว


นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ B.1351 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม พบว่าแพร่กระจายเร็วขึ้น แต่ข้อมูลล่าสุดพบว่าไม่เพิ่มความรุนแรง


สายพันธุ์ P.1 สายพันธุ์บราซิล ที่พบเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิมพบว่าแพร่กระจายเร็วขึ้นและมีโอกาสติดเชื้อซ้ำ สายพันธุ์นี้ยังไม่พบในไทย -b.1.427 และ b.1.429 พบที่สหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ อาจมีความสัมพันธ์กับการแพร่ระบาดง่ายขึ้นในสหรัฐอเมริกา และสายพันธุ์อินเดีย b.1.617 สายพันธุ์อินเดียพบในอินเดียเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว


นายแพทย์ประสิทธิ์ย้ำว่า วัคซีนยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับการแพร่ระบาด การฉีดวัคซีนจะเห็นผลเมื่อประชากรอย่างน้อยร้อยละ 25 ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งการฉีดวัคซีนได้เร็วและฉีดได้มาก จึงเป็นสิ่งจำเป็นวัคซีนที่มีการใช้ในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูง


และเมื่อทั่วโลกมีการเริ่มฉีดวัคซีนผู้ติดเชื้อก็ลดลง แต่ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น อัตราการเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเป็นคู่ขนานเช่นกัน จากนั้นเริ่มลดลงอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ และในเดือนมีนาคมพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า 1 สัปดาห์มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านคน หรือ 8 แสนคน/วัน


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/l8WVZmOSyu4

คุณอาจสนใจ