สังคม

'หมอเลี๊ยบ' โพสต์ยาวอิงผลวิจัยต่างชาติ แนะคนไทยตื่นตัว แต่ไม่ตื่นกลัวโควิด

โดย thichaphat_d

20 เม.ย. 2564

878 views

วานนี้ (19 เม.ย.) ในเฟซบุ๊กของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แกนนำกลุ่มแคร์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์แนะกับทุกคน โดยใช้หัวข้อว่า โควิด : ตื่นตัว ไม่ตื่นกลัว กล่าวในบางช่วงระบุว่า


อัตราตายของโควิดสายพันธุ์อังกฤษน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น 3.4 เท่า แต่อัตราตายสูงขึ้นถ้ามีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว


วันที่ 18 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยโควิดรายใหม่ในประเทศไทย 1,767 ราย นับว่ามากที่สุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด แต่ผมยังยืนยันว่า ท่าทีของเราต่อโควิดคือ อย่าตื่นกลัวแต่ต้องตื่นตัว ระลอกใหม่นี้ระบาดอย่างรวดเร็วจากเหตุ 3 ประการ


ประการแรก : ตัวเชื้อไวรัสที่แพร่ได้แม้ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย

ประการที่สอง : ผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์มีพฤติกรรมทางสังคมที่อำนวยในการแพร่เชื้อ

ประการที่สาม : การรับมือของผู้รับผิดชอบล่าช้า


ส่วนข่าวเรื่องสายพันธุ์อังกฤษซึ่งพบว่าเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในระลอก 3 นี้ แล้วบอกต่อกันว่า ระบาดได้เร็วขึ้น 1.7 เท่า และอัตราตายสูงขึ้น 64% นั้น ผมเห็นว่าสมควรตรวจสอบข้อมูล ที่มาที่ไปของข่าว


โควิด-19 เป็นโรคติดต่อใหม่ ดังนั้น จึงต้องการความรู้ที่ทันสมัยและความรู้นั้นต้องพร้อมรับการตรวจสอบตลอดเวลา ถ้าเป็นความรู้เก่า ก็ต้องการการตรวจสอบว่ายังใช้ได้จริงหรือไม่ ถ้าเป็นความรู้ใหม่จากงานวิจัย ยิ่งต้องท้าทายว่า งานวิจัยนั้นลำเอียงหรือไม่ ควบคุมตัวแปรกวน (Confounder) ได้หรือเปล่า


ตัวอย่างความรู้เก่าที่มาถึงวันนี้ใช้ไม่ได้แล้ว Anthony Fauci รู้ซึ้งที่สุด 3Anthony Fauci เป็นประธานที่ปรึกษาทางการแพทย์ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโควิดที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดของสหรัฐอเมริกา เขาเคยกล่าวไว้อย่างหนักแน่นในวันที่ 8 มีนาคม 2563 ว่า "ไม่มีเหตุผลใดๆในการใส่หน้ากากระหว่างมีการระบาด


แต่ในวันที่ 3 เมษายน 2563 ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกากลับเปลี่ยนคำแนะนำใหม่ โดยให้ประชาชนใส่หน้ากากเมื่ออยู่ในที่สาธารณะเสมอ หลังจากพบผู้ป่วยโควิดในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นจาก 541 ราย (8 มีนาคม 2563) เป็น 291,748 ราย (3 เมษายน 2563)


ดังนั้น "สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง" จึงเป็นสุภาษิตที่ต้องจำให้ขึ้นใจ ความรู้ใหม่จากงานวิจัยก็เช่นกัน ยิ่งต้องได้รับการตรวจสอบความถูกต้องว่า ไม่มีความเอนเอียงของระเบียบวิธีวิจัย


เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2564 มีงานวิจัย 2 ชิ้นเผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ 2 ฉบับ คือ British Medical Journal (bmj) และ Nature และสรุปว่า ผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) มีอัตราตายมากกว่าสายพันธุ์อื่นถึง 64% และ 61% ตามลำดับ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วโลก สื่อระดับโลกต่างประโคมข่าวกันอย่างกว้างขวาง


แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีงานวิจัย 2 ชิ้นเผยแพร่ในวารสาร The Lancet Infectious Diseases และ The Lancet Public Health กลับสรุปว่า ผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์อังกฤษมีอัตราตายเท่ากับสายพันธุ์อื่น


ทั้งนี้ในแต่ละงานวิจัยจะมีตัวกวน (Confounder) ทั้งหลายที่เกิดขึ้นนี้ย่อมทำให้การแปลผลคลาดเคลื่อน มีการยกตัวอย่างงานวิจัยกับ 2 ประเทศในอุดมคติร่วมกัน คือไอร์แลนด์ และเดนมาร์ก


พบว่าไอร์แลนด์มีอัตราตายของผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์อังกฤษน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น 3.28 เท่า


ส่วนประเทศเดนมาร์กมีอัตราตายของผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์อังกฤษน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น 3.63 เท่า จากข้อมูลของ 2 ประเทศ ในชั้นนี้ จึงขอสรุปว่า สายพันธุ์อังกฤษระบาดง่ายขึ้น แต่อัตราตายน้อยลง 3.4 เท่า จนกว่าจะมีข้อมูลใหม่จากงานวิจัยที่มีระเบียบวิธีวิจัยสมบูรณ์ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ แล้วให้ผลสรุปเป็นอย่างอื่น


อย่างไรก็ตาม มาตรการส่วนบุคคล "ใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง" ยังเป็นมาตรการสำคัญที่สุดในการควบคุมการระบาดของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรายังไม่ได้ฉีดวัคซีนจนถึงจุดที่มีภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) #ตื่นตัวไม่ตื่นกลัว



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/T6vj5FYXmoo

คุณอาจสนใจ

Related News