สังคม

ทบทวน 8 ปี กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ คาดเป็นปลายทางของปัญหา ต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง

โดย weerawit_c

1 มี.ค. 2564

31 views

การลงนามข้อตกลงพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทย โดยพลโท ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช. กับอุสตาส ฮาซัน ตอยิบ ผู้นำฝ่ายการเมือง ขบวนการ BRN เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ แม้ว่าการเริ่มต้นเจรจาในวันนั้น จะสิ้นสุดลงหลังการรัฐประหารโดย คสช.ในปี 2557 แต่ขบวนการ บีอาร์เอ็น มองว่า เป็นความสำเร็จที่ทำให้ ขบวนการปลดปล่อยปาตานี หรือ บีอาร์เอ็น ได้รับการยอมรับจากรัฐไทย ประชาชนกล้าพูดถึงกระบวนการสันติภาพ และสังคมนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น



แต่สิ่งที่อุสตาส ฮัสซัน ตอยิบ มองว่ายังไม่สำเร็จ คือการที่ยังไม่ได้พูดคุยในประเด็นหลักอย่างเป็นทางการ ทั้งสิทธิความเป็นเจ้าของ อัตลักษณ์ของชาวมลายูปาตานี การปกครองตนเอง และการพูดคุยยังไม่เป็นวาระแห่งชาติที่ได้รับการยอมรับจากรัฐสภา และความไม่มีเอกภาพของรัฐบาลไทย ที่บีอาร์เอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 



ซึ่งตรงกับ พลโท ภราดร ที่เชื่อมั่นว่า การพูดคุยจะสำเร็จต้องมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย และ 8 ปีที่ผ่านมา ยังไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่อยากเห็นการบริหารพื้นที่มีศอบต.นำ กอ.รมน.ทำให้ความก้าวหน้าไม่พัฒนาเท่าที่ควร



นายกัสตูรี มะห์โกตา หัวหน้าขบวนการ Pulo หรือ พูโล เชื่อมั่นว่าการเจรจาคือทางออกที่ต้องทำอย่างจริงจังจึงจะนำไปสู่การแก้ไขความไม่ยุติธรรม ซึ่งนายกัสตูรี เห็นว่า กระบวการเจนิวา ที่มีการพบปะระหว่าง บีอาร์เอ็น และ กลุ่มพูโล ที่ประเทศบาเรนห์ โดยมีพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปพูดคุยเอง เป็นตัวอย่างการเจรจาที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด และในฝ่ายขบวนการยังต้องการความมีเอกภาพและการมีส่วนร่วม ที่พูโล จะไม่เจรจรากับรัฐบาลไหน หากไม่มีการติดตามของนานาชาติ นำไปสู่การหยุดยิงและรัฐไทยต้องยกระดับกระบวนการทางการเมือง



นายอาบูฮาฟิช อัล ฮากิม แกนนำ BIPP ในฐานะโฆษกมาราปาตานี ยอมรับว่า หากการพูดคุยสันติภาพเมื่อ 8 ปีก่อน หากจดหมายที่ พลโท ภราดร ตอบรับ ข้อเสนอ 5 ข้อของขบวนการ บีอาร์เอ็น ที่จะมีการตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาและมีการเสนอให้รวมกลุ่มที่ขัดแย้งมาพูดคุยกัน คงไม่เกิดกลุ่มมารา ปาตานี ใน 2 ปีต่อมา ซึ่งน่าเสียดายหลายเรื่องที่มารา ปาตานี ได้ผลักดัน โดยเฉพาะ การสร้างพื้นที่ปลอดภัย



ซึ่งตรงกับพล.ท.นักรบ บุญบัวทอง อดีตเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ ที่ปัจจุบันอยู่นอกวงการพูดคุยไปแล้ว ยอมรับว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ล่าช้า อาจมีปัญหาอุปสรรคมาจากการเมืองภายในประเทศ ที่ทำให้ความสนใจเรื่องใต้เป็นรองลงไป และต้องมีโรดแมปที่ชัดเจน รวมทั้งคนที่ทำงานสันติภาพควรเป็นคนที่ทำงานต่อเนื่อง



ขณะที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี อดีตคณะกรรมการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เห็นด้วยที่การพูดคุยต้องทำต่อ และนำปัญหามาเป็นบทเรียน เช่น ควรนำจดหมายที่ไทยทำถึง BRN ที่จะพิจารณา 5 ข้อเสนอมาทบทวนเพื่อทำต่อ รวมถึงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ mara patani ได้ทำไว้ โดยฝ่ายการเมือง พรรคการเมือง ต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น



รศ.ดร. มาร์ค ตามไท เห็นว่า จุดจบของการพูดคุยคือจุดเริ่มต้น ที่ต้องรู้ว่า เป้าหมายสุดท้ายของการพูดคุยคือการวางกติการ่วมกันของการสร้างสันติภาพ

คุณอาจสนใจ

Related News