ต่างประเทศ

เปิดอาการ ‘แบคทีเรียกินเนื้อคน’ หลังญี่ปุ่นเตือนผู้ติดเชื้อพุ่ง สธ.สั่งเฝ้าระวัง ย้ำไม่ใช่โรคอุบัติใหม่

โดย nicharee_m

30 มี.ค. 2567

116 views

ผวา ญี่ปุ่นเตือน ‘แบคทีเรียกินเนื้อคน’ หลังพบผู้ติดเชื้อพุ่งกว่า 500 คน สธ.สั่งเฝ้าระวัง ติดเชื้อได้จากการหายใจ พร้อมเผยอาการ ย้ำไม่ใช่โรคอุบัติใหม่

กรุงโตเกียวออกคำเตือน พบผู้ติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคน พุ่งหลายเท่า ขณะที่ทั่วประเทศญี่ปุ่นพบคนติดเชื้อกว่า 500 ราย ทำเกาหลีเหนือ ยกเลิกการจัดแข่งขันฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก ระหว่างทีมชาติเกาหลีเหนือกับทีมชาติญี่ปุ่นอย่างกะทันหัน

ที่ว่าการมหานครโตเกียว เมืองหลวงประเทศญี่ปุ่นออกคำเตือนประชาชนเมื่อ 26 มีนาคม 2567 พบจำนวนคนติดเชื้อแบคทเรียอันตราย ที่ก่อให้เกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อ (flesh-eating-disease ซึ่งอาจเรียกกันว่าโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดร้ายแรง ‘สเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ’ เพิ่มสูงขึ้น โดยในกรุงโตเกียวพบคนติดเชื้อแล้ว 88 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมาถึงประมาณ 3 เท่า

ในขณะที่ทั่วประเทศญี่ปุ่น มีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคนแล้ว จำนวน 517 ราย ซึ่งสูงกว่า 5 ปีก่อน ถึง 4 เท่า โดยแบคทีเรียกินเนื้อคนนั้น เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดร้ายแรงที่ทำให้ผู้ติดเชื้ออาจเสียชีวิตสูงถึง 30% ขณะที่ความร้ายแรงของแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ ที่ก่อให้เกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน เกิดขึ้น เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้ว เชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคน จะกระจายไปทั่วร่างกาย เป็นเหตุให้การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว

ศ.ฮิโตชิ ฮอนดา ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อที่มหาวิทยาลัยสาธารณสุขฟูจิตะ ในญี่ปุ่นกล่าวว่า โรคแบคทีเรียกินเนื้อคนไม่ใช่โรคระบบทางเดินหายใจ เหมือนกับโรคปอดบวม หรือโรคโควิด-19 ที่สามารถเกิดการแพร่ระบาด ติดเชื้อได้จากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอย สารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ติดเชื้อ

ขณะที่ยังมีรายงานการพบผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคนที่พุ่งสูงขึ้นในญี่ปุ่น ทำให้เกาหลีเหนือ ยกเลิกการจัดแข่งขันฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก ระหว่างทีมชาติเกาหลีเหนือกับทีมชาติญี่ปุ่นอย่างกะทันหัน ขณะที่กำหนดการแข่งขันจะมีขึ้นในวันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา


กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ หรือ โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน ที่มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ย้ำไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่มีหลายสายพันธุ์ และอาจแสดงอาการได้หลายรูปแบบ

เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงรายงานข่าวกรณีที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขญี่ปุ่น เร่งหาสาเหตุการเพิ่มขึ้นของโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย “สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ” ซึ่งทางญี่ปุ่นคาดว่าอาจเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด 19  จึงขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ไม่ใช่เชื้ออุบัติใหม่ เป็นเชื้อก่อโรคที่มีมานานแล้ว และมีหลายสายพันธุ์ ก่อให้เกิดอาการแสดงของโรคได้หลายรูปแบบตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงมาก และอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

โดยหนึ่งในอาการแสดงของโรค ที่อยู่ในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย เรียกว่า “โรคไข้อีดำอีแดง หรือ Scarlet fever” โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ”สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ” ทำให้เกิดการติดเชื้อของคอหอย ต่อมทอนซิล และระบบทางเดินหายใจ เกิดได้ทุกช่วงอายุ แต่มักเป็นในเด็กวัยเรียน โรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยการใกล้ชิดและหายใจรับละอองฝอยของเสมหะ น้ำมูก น้ำลายที่มีเชื้อ หรือละอองเชื้อโรคสัมผัสกับตา จมูก ปาก หรือ สัมผัสผ่านมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น จาน ชาม แก้วน้ำ เป็นต้น

ส่วนอาการที่พบ คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ไข้ และอาจมีผื่นนูนสากๆ ตามร่างกาย (จากเชื้อสร้างสารพิษ) สัมผัสแล้วมีลักษณะคล้ายกระดาษทราย กลุ่มเสี่ยงของโรคจะเป็นเด็กวัยเรียนอายุ 5-15 ปี ที่อยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น เด็กนักเรียนในโรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็ก ฯลฯ หรือคนที่สัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ปี 2562 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2567 พบผู้ป่วย 4,989 ราย ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต สำหรับในปีนี้ 2567 ยังไม่พบรายงานผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม นอกจากก่อโรคระบบทางเดินหายใจแล้ว เชื้อนี้อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังที่อาจมีการลุกลามเร็วได้ ส่วนน้อยอาจมีอาการรุนแรง การติดเชื้อนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ดังนั้นการไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความรุนแรงของโรค รวมถึงการแยกโรคได้อย่างถูกต้อง จะช่วยลดการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้างได้

เนื่องจากการแพร่ระบาดหลักของเชื้อนี้เป็นทางระบบทางเดินหายใจ และการติดเชื้อนี้พบได้ทุกช่วงอายุ ดังนั้นมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 จึงสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อนี้เช่นกัน การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก สำหรับโรคไข้อีดำอีแดงที่กลุ่มเสี่ยงเป็นเด็กวัยเรียน เน้นกำชับให้ทุกโรงเรียนเน้นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอย่างเคร่งครัด รวมถึงการรักษาความสะอาด ทำความสะอาดอุปกรณ์ของใช้ และของเล่นต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคยังคงติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อเสตรปโตคอคคัส ชนิดเอ ในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ขอแนะนำประชาชน หากมีไข้ เจ็บคอ ร่วมกับมีผื่นสากนูน หรือตุ่มหนองที่ผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัย รักษา และแยกโรคอย่างถูกต้อง การเดินทางไปต่างประเทศ ยังคงต้องรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างสม่ำเสมอ


https://youtu.be/4PEf_WBj3Lc

คุณอาจสนใจ