ต่างประเทศ
ทั่วโลกลุ้น ช่วยผดส.เรือดำน้ำไททัน ออกซิเจนหมดวันนี้ 18.18 น. หวังปาฏิหาริย์
โดย panwilai_c
22 มิ.ย. 2566
340 views
ทั่วโลกจับตาปฏิบัติการช่วยชีวิตผู้โดยสารเรือดำน้ำไททัน ซึ่งตอนนี้เหลือเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ปริมาณออกซิเจนภายในเรือไททันก็จะหมดลง ทีมกู้ภัยทั้งสหรัฐฯ แคนาดา และฝรั่งเศส ระดมทั้งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง เพิ่มขึ้นอีกกว่า 1 เท่าตัว เพื่อค้นหา แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบพิกัดของเรือดำน้ำไททัน
เมื่อวานนี้หน่วยยามชายฝั่งของสหรัฐฯคาดการณ์ว่า ออกซิเจนในเรือดำน้ำไททันน่าจะหมดตอนเวลาประมาณ 7 นาฬิกา 18 นาที ตามเวลาทางตะวันออกในอเมริกาเหนือ (ET) ซึ่งตรงกับเวลาประมาณ 18 นาฬิกา 18 นาทีวันนี้ ตามเวลาประเทศไทย
ปฏิบัติการค้นหาเข้าสู่ช่วงสำคัญ เพราะเป็นช่วงสุดท้ายแล้ว ที่ทั้ง 5 คนจะยังมีชีวิตรอดก่อนที่ออกซิเจนในเรือดำน้ำจะหมดลง สำหรับการค้นหาบนผิวน้ำขยายพื้นที่ออกไปจากเดิม ตอนนี้อยู่ที่ 2 หมื่น 6 พันตารางกิโลเมตร เทียบเท่าพื้นที่รัฐคอนเนตติกัตของสหรัฐฯถึง 2 เท่า
ทีมค้นหายังได้นำเรือและยานดำน้ำมาร่วมปฏิบัติการเพิ่มอีกกว่า 1 เท่าตัว ในส่วนการค้นหาใต้ทะเล ก็ขยายลงไปใต้ทะเลที่ระดับความลึก 4 กิโลเมตร ในส่วนของสหรัฐฯระดมยานสำรวจใต้น้ำที่ควบคุมจากระยะไกล หรือ ROV เข้าไปในจุดที่เครื่องบินแคนาดาตรวจจับเสียงเคาะจากใต้น้ำ ซึ่งล่าสุดในวันนี้ก็ยังได้ยินเสียงเคาะจากใต้ทะเลอีก สำหรับตัว ROV นี้จะติดตั้งกล้อง ที่สามารถสแกนหาวัตถุที่ก้นมหาสมุทรตลอดทั้งวัน
ขณะที่ฝรั่งเศส ได้ส่งเรือสำรวจ"อตาลันเต้" (Atalante) พร้อมด้วยหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำที่มีชื่อว่า "วิคเตอร์ 6 พัน" (Victor) มาช่วย ซึ่งนับเป็นความหวังสำคัญของปฏิบัติ เนื่องจากวิคเตอร์ 6000 สามารถลงไปใต้ทะเลลึก 6 พันเมตร ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ 25 คน ทำงานต่อเนื่องได้ 72 ชั่วโมง เป็นหุ่นยนต์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง มีแขนที่ควบคุมด้วยรีโมตระยะไกล ใช้ในการตัดสายเคเบิล หรือ ดึงเรือที่ติดออกมาได้ ตรงนี้จะเป็นประโยชน์หากเรือไททัน ติดอยู่กับซากเรือไททานิค
ในส่วนกองทัพเรือสหรัฐฯได้เตรียมอุปกรณ์ที่มีระบบดึงและยกวัตถุที่น้ำหนักสูงสุดได้ถึง 30 ตัน ที่มีชื่อว่า ฟาดอส (FADOSS) เตรียมพร้อมหากพบเรือดำน้ำไททัน
ฟาดอส มีลักษณะคล้ายม้วนเชือกขนาดใหญ่ ทำงานเชื่อมต่อกับระบบดาดฟ้าเรือ และจะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกล ROV โดยเจ้าหน้าที่จะนำปลายเชือกของฟาดอสผูกไว้กับ ROV เมื่อใดที่พบเรือดำน้ำไททัน หุ่นยนต์ ROV ก็จะร่วมกันทำงานกับฟาดอสยกไททัน ขึ้นมาจากท้องทะเล โดยปกติแล้วฟาดอส จะใช้กู้วัตถุขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากเช่น เครื่องบินและเรือขนาดเล็ก
แม้ความหวังจะมีไม่มากนัก เพราะตอนนี้ทีมกู้ภัยยังไม่สามารถค้นหาพิกัดเรือไททันได้ และยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่า เสียงดังที่ตรวจจับได้จะมาจากเรือไททันหรือไม่ แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้ ยังเดินหน้าเพื่อช่วยชีวิตบุคคลทั้ง 5 ต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญเรือดำน้ำเปิดเผยว่า 24 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนออกซิเจนของเรือดำน้ำไททันจะหมด ผู้โดยสารทั้ง 5 คนในไททันจะอยู่อย่างทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ
นาวาเอกเดวิด มาร์เควต (David Marquet) อดีตกัปตันเรือดำน้ำได้อธิบายถึงสภาพความเป็นอยู่ของผู้โดยสารทั้ง 5 คน โดยบอกว่า แม้ออกซิเจนจะยังไม่หมด แต่พวกเขาจะทั้งกระหายน้ำและหิว ซึ่งอาการทั้งสองอย่าง แม้จะยังไม่ทำให้เสียชีวิต แต่พวกเขาจะอยู่อย่างทรมานในเรือดำน้ำที่ภายในมีพื้นที่ขนาดเล็กคือ ยาว 6.7 เมตร กว้าง 2.5 เมตร และสูง 2.8 เมตร
ขณะที่สภาพอากาศด้านนอกเย็นจัด น้ำรอบๆเรือ เย็นจนเป็นน้ำแข็ง ทำให้หายใจอย่างยากลำบาก วิธีที่จะช่วยได้คือ ต้องมานั่งกอดกันเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น และขณะที่ออกซิเจนเหลือน้อย ทั้ง 5 คนก็จะหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ซึ่งเรือดำน้ำ ไม่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่หายใจออกมาได้อย่างเต็มที่ ทำให้ทั้ง 5 คนจะหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป พวกเขาก็จะมีอาการปวดหัว งุนงนและคลื่นไส้ และจะทำให้หมดสติ เมื่อคาร์บอนไดออกไซด์สะสมในกระแสเลือดมากขึ้น ก็จะทำให้เสียชีวิตได้ และตรงนี้อยู่ที่ว่าร่างกายใครจะทนทานได้มากกว่ากัน
มาร์เควต บอกว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้ คือ ออกซิเจนที่น้อยลง คาร์บอนไดออกไซด์ที่ปริมาณมากขึ้น และ ความหนาวเย็น เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องอดทนให้ได้นานที่สุด เพื่อรอเวลาเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาช่วยเหลือ
ขณะที่นายแพทย์โซแฮม ดาส (Soham Das) จิตแพทย์ด้านนิติเวชศาสตร์ชาวอังกฤษกล่าวว่า ช่วง 24 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนที่ปริมาณออกซิเจนในเรือไททันจะหมด สภาพจิตใจทั้ง 5 คนก็จะขึ้นๆลงๆ บางครั้งก็มีความหวังว่า พวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือ แต่เมื่อเวลาเหลือน้อยลงเรื่อยๆ พวกเขาก็จะคิดว่า อาจจะไม่รอดก็เป็นได้
รายงานยังระบุด้วยว่า ในหนังสือยินยอมที่ให้ลูกค้าที่จะเดินทางไปกับเรือไททัน ได้ระบุชัดเจนว่า เรือดำน้ำไททัน ยังไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยและไม่เป็นไปตามข้อบังคับของหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการเดินสมุทร ซึ่งอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย พิการ ทรมานทางจิตใจ และเสียชีวิตได้