ต่างประเทศ
อังกฤษเตรียมจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
โดย onjira_n
4 พ.ค. 2566
332 views
พระราชพิธีฯ นี้ ถือว่ามีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษ เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการเริ่มต้นรัชสมัยใหม่
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าทางสำนักพระราชวังและรัฐบาลอังกฤษจะพยายามยึดถือธรรมเนียมโบราณที่มีมานานมากกว่า 1,000 ปี แต่ถึงกระนั้น พระราชพิธีฯ ในครั้งนี้มีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเล็กน้อย เพื่อให้เข้ากับสภาพสังคม, เศรษฐกิจ, และทัศนคติของผู้คนในโลกยุคใหม่
ในพระราชพิธีฯ ดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา จะทรงได้รับการสวมพระมหามงกุฏพร้อมกัน ถือเป็นเจ้าแผ่นดินอังกฤษลำดับที่ 40 ที่ได้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ใจกลางกรุงลอนดอน นับตั้งแต่ปี 1066 เป็นต้นมา
พระราชพิธีฯ เริ่มต้นด้วยการเคลื่อนขบวนเสด็จจากพระราชวังบักกิงแฮมไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในช่วงเวลาก่อน 11.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) หรือ ก่อน 17.00 น. (ตามเวลาบ้านเรา)
ขบวนเสด็จจะเคลื่อนผ่านถนนเดอะมอลล์ สู่จัตุรัสทราฟัลการ์ ก่อนจะเลี้ยวเข้าถนนไวต์ฮอลล์และถนนรัฐสภาตามลำดับ จากนั้นจะเข้าสู่จัตุรัสรัฐสภาและอาคาร Broad Sanctuary เพื่อไปยังประตูใหญ่ทิศตะวันตกของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา จะเสด็จไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ด้วย “ราชรถพัชราภิเษก (diamond jubilee state coach)” ซึ่งทำขึ้นใหม่เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี และถูกใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 2014 โดยทรงยกเลิกการใช้ราชรถทองใหญ่ตามธรรมเนียมดั้งเดิม เนื่องจากเป็นพระราชพาหนะรุ่นเก่าที่ไม่ค่อยสะดวกสบายนัก
พอขบวนมาถึงมหาวิหารฯ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่คาดว่าอาจเลือกทรงเครื่องแบบทหาร แทนเครื่องแต่งกายของบุรุษแบบโบราณ จะเสด็จเข้าสู่ด้านในของมหาวิหาร โดยทรงพระดำเนินผ่านประตูใหญ่ทิศตะวันตก จนเข้าถึงโถงใหญ่และบริเวณศูนย์กลางของมหาวิหาร
เมื่อเข้าไปด้านในมหาวิหารจะพบกับโถงใหญ่ ซึ่งเป็นที่นั่งของผู้เข้าร่วมพระราชพิธี ส่วนตรงกลางที่มีความสำคัญมากที่สุดจะเป็นแท่นบูชาสูง และมณฑลพิธีราชาภิเษกที่ใช้สำหรับสวมพระมหามงกุฎให้แก่กษัตริย์
พิธีในมหาวิหารจะเริ่มด้วยการบรรเลงดนตรี ที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเลือกสรรมาด้วยพระองค์เอง ทั้งยังโปรดให้มีการประพันธ์เพลงขึ้นใหม่ จำนวนทั้งหมด 12 เพลง นอกจากนี้ ยังมีผลงานเพลงเพื่อรำลึกถึงเจ้าชายฟิลิป พระราชบิดาด้วย
ขั้นตอนแรกของพระราชพิธีฯ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรีจะทำหน้าที่ประกาศแนะนำพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ต่อปวงชน โดยยืนอยู่หน้าบัลลังก์ราชาภิเษกอายุ 700 ปี จากนั้นจะขอให้ผู้เข้าร่วมพระราชพิธีถวายความเคารพ และกล่าวถวายความจงรักภักดี
สำหรับบัลลังก์ราชาภิเษก หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าพระราชอาสน์เซนต์เอ็ดเวิร์ด เป็นเครื่องเรือนที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดในสหราชอาณาจักร อายุกว่า 700 ปี โดยมีกษัตริย์อังกฤษถึง 26 พระองค์ ที่ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกบนบัลลังก์นี้
พระราชอาสน์นี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 13 ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ เริ่มแรกบัลลังก์ปิดด้วยแผ่นทองคำและกระจกสี โดยมีลวดลายต่าง ๆ ประดับโดยรอบ เช่น สัตว์ต่าง ๆ ดอกไม้ ใบไม้ และรูปนักบุญ
บริเวณใต้พระแท่นที่ประทับมีช่องว่างสำหรับใส่ "ศิลาแห่งสคูน" (The Stone of Scone ) หรือ “ศิลาแห่งชะตาลิขิต” ซึ่งเป็นพระศิลาราชาภิเษกของกษัตริย์สกอตแลนด์ที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงยึดมาหลังจากการพิชิตแผ่นดินแดน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ากษัตริย์อังกฤษทรงเป็นเจ้าเหนือหัวแห่งสกอตแลนด์
รัฐบาลอังกฤษได้ส่งคืนศิลาแห่งชะตาลิขิตให้กับทางการสกอตแลนด์ไปเมื่อปี 1996 แต่มันจะถูกนำกลับมายังกรุงลอนดอนเป็นการชั่วคราว เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ศิลาแห่งสคูน (Stone of Scone) หรือ “ศิลาแห่งชะตาลิขิต” (Stone of Destiny) เป็นหินทรายสีน้ำตาลอมชมพู ขนาดประมาณ 26 นิ้ว x 16.75 นิ้ว x 10.5 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 152 กิโลกรัม
ตามความเชื่อ ศิลาแห่งสคูนจะเปล่งเสียงร้องออกมาหากผู้ที่มีเชื้อสายกษัตริย์และมีความชอบธรรมที่จะสืบทอดบัลลังก์ ได้ขึ้นนั่งเหนือหินก้อนนี้
พอมาถึงขั้นตอนที่ 2 สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ เพื่อยืนยันว่าจะทรงพิทักษ์รักษากฎหมายของแผ่นดินและศาสนจักรอังกฤษ โดยจะทรงวางพระหัตถ์ลงบนพระคัมภีร์ไบเบิลระหว่างตรัสคำปฏิญาณดังกล่าว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ทรงปฏิบัติตาม
ขั้นตอนที่ 3 จะเป็นการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงประทับบนบัลลังก์ราชาภิเษกเพื่อทรงรับการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์จากอาร์ชบิชอป
น้ำมันศักดิ์สิทธิ์มีการผลิตขึ้นเพื่อพระราชพิธีในครั้งนี้เป็นพิเศษ โดยสกัดจากผลมะกอกที่ปลูกในป่าสองแห่งบนภูเขา Mount of Olives ในนครเยรูซาเลม ทั้งยังผ่านพิธีปลุกเสกในโบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ (Church of the Holy Sepulchre) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสุสานของพระเยซูอีกด้วย
น้ำมันจะถูกบรรจุอยู่ภายในขวดอินทรีทองคำ ที่ทำขึ้นสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 เมื่อหลายร้อยปีก่อน และเทลงบนฉลองพระหัตถ์ช้อนราชาภิเษก ที่ทำขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 12
ในระหว่างการเจิมน้ำมันนี้ เจ้าหน้าที่จะใช้ผ้าคลุมเป็นเพดานและม่านกั้นรอบบัลลังก์ราชาภิเษก เพื่อปิดบังสายตาของสามัญชนไม่ให้มองเห็นพิธีกรรมดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความศักดิ์สิทธิ์สูงสุดในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เนื่องจากเป็นพิธีกรรมส่วนพระองค์ระหว่างกษัตริย์กับพระผู้เป็นเจ้า
เมื่อเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์และเปลี่ยนเครื่องทรงแล้ว นักบวชจะถวายการสวมหรือวางพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ลงบนพระเศียรของกษัตริย์ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพพระองค์จะได้ทรงพระมหามงกุฎนี้เพียงครั้งเดียว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น
พระมหามงกุฎนี้ ถูกสร้างขึ้นในสมัยกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 เมื่อปี 1661 ตัวมงกุฎทำจากทองคำแท้และหนักถึง 2.23 กิโลกรัม อีกทั้ง ยังประดับด้วยทับทิม, ไพลิน, โกเมน, อะเมทิสต์, และทัวร์มาลีน
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 7 ที่ได้ทรงพระมหามงกุฎนี้ต่อจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2, พระเจ้าเจมส์ที่ 2, พระเจ้าวิลเลียมที่ 3, พระเจ้าจอร์จที่ 5, พระเจ้าจอร์จที่ 6, และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
แต่ก่อนจะถึงขั้นตอนการสวมพระมหามงกุฎ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอเบอรีจะถวายลูกโลกประดับกางเขน, พระธำมรงค์ประจำองค์พระมหากษัตริย์, พระคทากางเขน, และพระคทานกพิราบ แล้วจึงถวายการสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดได้ในที่สุด
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีของพระมหากษัตริย์ จะมีการประกอบพระราชพิธีอภิเษกหรือการสถาปนาแต่งตั้งสมเด็จพระราชินี โดยนักบวชจะเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับพระอัครมเหสี และถวายการสวมพระมหามงกุฎควีนแมรี
พระมหามงกุฎควีนแมรีนั้น เดิมทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมเด็จพระราชินีแมรีในพระเจ้าจอร์จที่ 5 แต่ขณะนี้กำลังมีการปรับปรุงโดยนำวงโค้งบางส่วนออก รวมทั้งติดตั้งเพชรคัลลิแนน 3 เม็ด (คัลลิแนนที่ 3, คัลลิแนนที่ 4, คัลลิแนนที่ 5) ซึ่งล้วนเป็นเพชรที่ตัดแบ่งมาจากโคตรเพชรใหญ่ที่สุดในโลก
หลังการประกอบพิธีในมหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์เสร็จสิ้น สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเสด็จไปยังโบสถ์น้อยเซนต์เอ็ดเวิร์ด เพื่อผลัดเปลี่ยนพระมหามงกุฎ จากพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดมาเป็นพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท ก่อนเสด็จออกจากมหาวิหารเพื่อทรงเข้าร่วมขบวนที่เตรียมเคลื่อนกลับไปยังพระราชวังบักกิงแฮม โดยจะมีการบรรเลงเพลงชาติของสหราชอาณาจักรในช่วงเวลาดังกล่าว
พระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตทเป็นหนึ่งในพระมหามงกุฎที่สำคัญที่สุดในหมู่เครื่องราชกกุธภัณฑ์ มีอัญมณีและรัตนชาติ สร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1937 สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8
ส่วนกลางของพระมหามงกุฎประดับด้วยอัญมณีที่เก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ “ทับทิมเจ้าชายดำ” น้ำหนักประมาณ 170 กะรัต (34 กรัม) ด้านล่างของทับทิมคือเพชรคัลลิแนนที่ 2 น้ำหนัก 317.40 กะรัต
ส่วนหลังของพระมหามงกุฎคือแซฟไฟร์สจ๊วต ไพลิน น้ำหนักกว่า 104 กะรัต อัญมณีทั้งสองชิ้นถูกเชื่อมหากันด้วยสร้อยมรกต ไพลิน และไข่มุกรอบพระมหามงกุฎ นอกจากนี้ ยังมีไข่มุกทั้งสี่ประดับด้านบน
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา จะเสด็จพระราชดำเนินจากมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์กลับไปยังพระราชวังบักกิงแฮมตามเส้นทางเดิม แต่คราวนี้จะใช้ราชรถทองใหญ่ (Gold State Coach) อายุเก่าแก่ 260 ปี ซึ่งเป็นราชรถที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาตั้งแต่เริ่มต้นรัชสมัยของพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 เมื่อปี 1831
เส้นทางของขบวนเสด็จนี้คิดเป็นระยะทางทั้งสิ้น 2.29 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าสั้นกว่าเส้นทางเมื่อครั้งที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี 1953 โดยในครั้งนั้นเส้นทางยาวไกลกว่า 6.5 กิโลเมตร และใช้เวลาถึง 45 นาที
หลังเสร็จสิ้นการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กษัตริย์พระองค์ใหม่จะเสด็จออกสีหบัญชร ณ พระราชวังบักกิงแฮม ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมที่พระราชวงศ์อังกฤษทรงยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด โดยเป็นโอกาสที่จะได้ทรงพบปะทักทายเหล่าพสกนิกร ซึ่งมารวมตัวกันที่ถนนเดอะมอลล์ด้านหน้าพระราชวังบักกิงแฮม
จากนั้นฝูงเครื่องบินรบจากทุกเหล่าทัพจะบินผ่านเหนือพระราชวังบักกิงแฮม โดยใช้เวลาทำการบินถวายพระเกียรติ 6 นาที ปิดท้ายด้วยการแสดงของฝูงบินผาดแผลงแห่งกองทัพอากาศที่ได้รับฉายาว่า “ลูกศรสีแดง” (The Red Arrows) ซึ่งเป็นสัญญาณสิ้นสุดการเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษก