ต่างประเทศ

ถอดบทเรียนแผ่นดินไหวตุรกี จ่อใช้รับมือหากกระทบ กทม.

โดย panwilai_c

16 ก.พ. 2566

82 views

จากจำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุแผ่นดินไหวตุรกีล่าสุด กว่า 36,187 คน กลายเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของตุรกี เพราะมากกว่าเหตุแผ่นดินไหวในปี 2482 ในเมืองคาฮ์รามานมารัส ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่ยังคงมีการค้นหาร่างผู้สูญหาย ขณะที่ทีม USAR Thailand ในส่วนทีม ปภ.กรุงเทพมหานคร และ วิศวกรรมสถานฯ ได้ร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อนำมาเตรียมรับมือหากเกิดแผ่นดินไหวกระทบกับกรุงเทพมหานคร



เมืองคาฮ์รามานมารัส ยังคงเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง และเครื่องจักรที่กำลังรื้อถอนอาคารที่ถล่ม ที่ส่วนหนึ่งยังมีการค้นหาร่างผู้สูญหาย อย่างภายในอาคารแห่งนี้มีผู้สูญหาย 2 ราย ที่คาดว่าเสียชีวิตแล้ว แต่ผ่านมา 10 วันยังพบผู้รอดชีวิต 1 ราย จึงยังมีทีมค้นหาและกู้ภัยสแตนบายคอยช่วยเหลือ เช่นทีม USAR ประเทศปานามา



ในขณะที่อาคารบางแห่ง มีความพยายามจะขนสิ่งของมีค่า เช่นอาคารร้านทองแห่งนี้ ได้นำเครน ส่งกู้ภัยเข้าไปนำตู้เซฟทองออกมา เพราะตึกด้านบนไม่ถล่ม แต่ต้องผ่านการประเมินจากวิศวกรเสียก่อน



เช่นเดียวกับผู้ประกอบการร้านแลกเปลี่ยนเงินตรา ก็ได้จ้างรถแบคโฮ มารื้อถอนซากตึก เพื่อหวังจะเอาตู้เซฟเงิน ที่ถือเป็นของมีค่าที่สุดออกมาให้ได้ หวังเพียงจะนำไปเริ่มต้นใหม่ หลังต้องสูญเสียทั้งบ้านและคนในครอบครัว



ในขณะที่ทีมกู้ภัยชาวตุรกี ยังคงทำหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง แม้จะหมดหวังจะพบผู้รอดชีวิต แต่จะทำการค้นหาจนกว่าจะมีคำสั่งจาก ปภ.ตุรกี หรือ AFAD ให้ยุติ พวกเขายอมรับว่า แม้เมืองนี้จะน่ากลัวและยังมีอาฟเตอร์ช็อค แต่พวกเขาต้องอยู่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกคน โดย 10 วันที่ผ่านมาทีมนี้ได้กู้ร่างผู้เสียชีวิตได้ 60 ราย ช่วยผู้รอดชีวิตได้ 9 ราย



ทั้งเมืองคาฮ์รามานมารัส เหมือนเมืองที่ล่มสลาย ผู้คนต้องอพยพไปอยู่ศูนย์พักพิง หรือย้ายไปเมืองอื่น รวมแล้วกว่า 4 แสนคน ตามท้องถนนยังมีการแจกอาหารจากอาสาสมัครและองค์กรอการกุศลต่างๆ



เราพบร้านเคบับแห่งหนึ่งในเมืองคาฮ์รามานมารัส บริเวณด้านล่างไม่เสียหาย ทำให้เจ้าของร้านมาเปิดร้านทำเคบับแจกผู้ประสบภัยตั้งแต่วันแรก โดยสั่งอาหารมาจากเมืองกาซีอันเต็ป ครอบครัวของเขามีผู้สูญเสียด้วย แต่ต้องเข้มแข็งมาช่วยคนที่ลำบากกว่า



เมืองคาฮ์รามันมารัส ตั้งอยุ่เชิงเขาที่ยังเป็นภูเขาหิมะ ทางตอนใต้ของตุรกี เป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหว 7.8 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายนของตุรกี ซึ่งถือเป็นเหตุแผ่นดินไหวครั้งที่ 3 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 36,187 คน บาดเจ็บกว่า 1 แสนคน ถือเป็นยอดผู้เสียชีวิตมากที่สุดไปแล้ว นับจากเหตุแผ่นดินไหว 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ.2211 หรือ 335 ปีก่อน เกิดขึ้นที่อนาโตเลียเหนือ รุนแรงขนาด 8 ริกเตอร์ ซึ่งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ตุรกี มีผู้เสียชีวิตประมาณ 8,000 คน และครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2482 หรือ 84 ปีก่อน แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่จังหวัดอาร์ซินจาน มีผู้เสียชีวิต 32, 968 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 100,000 คน อาคาร 116,720 หลังถูกทำลาย ส่วนครั้งนี้ยังประเมินค่าความเสียหายไม่ได้



เมือง Antakya จังหวัดฮะทาย เป็นเมืองที่เสียหายหนักจุดหนึ่ง จากการร่วมค้นหาและกู้ภัยของทีม USAR Thailand ซึ่งมีทีมสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร จำนวน 10 นายร่วมทีมมาด้วย และมีบทบาทในการใช้เครื่องสแกนเรดาร์ในการค้นหาผู้สูญหาย ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมไทยแลนด์



และการมาครั้งนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้ถอดบทเรียนไปปรับใช้กับกรุงเทพมหานคร ซึ่งพบว่ามีความเป็นไปได้ที่ กทม.จะมีภัยพิบัติที่รุนแรงคล้ายของตุรกี เพราะสภาพเมือง กทม.มีบ้านเรือง สูง 3-4 ชั้น ถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ก็อาจมีสภาพอาคารวิบัติเสียหายเหมือนกัน กรุงเทพมหานครจึงได้ประชุมเร่งด่วน เพื่อเตรียมตรวจสอบอาคารตามกฏหมายใหม่ หากสร้างหลังปี 2564 ต้องออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว และต้องฝึกฝนบุคลากร เตรียมอุปกรณ์ เตรียมแผนทำงานกับเครือข่ายทั้งไทยและต่างประเทศด้วย



วิศวกร จากวิศวกรรมสถาน ก็มองเห็นเช่นเดียวกัน เพราะลักษณะเมืองอันตักเยีย เป็นชั้นดินอ่อน เหมือนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการศึกษาผลกระทบอยู่บ้างหากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในรอยเลื่อนต่างจะกระทบกับกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีประชากรหนาแน่น และมีอาคารจำนวนมาก จึงต้องถอดบทเรียน เช่นการอบรมวิศวกรอาสา ในการประเมินความเสี่ยงของอาคารเมื่อต้องทำการค้นหาและกู้ภัย ซึ่งอาจต้องมีการศึกษาด้านวิศวกรรมภัยพิบัติ เพื่อวิเคราะห์อาคารที่เสียหาย และเข้มงวดกับการบังคับใช้กฏหมายอาคารที่ต้องรองรับแผ่นดินไหว และตรวจสอบอาคารเก่าให้แข็งแรงขึ้น

คุณอาจสนใจ