สว. ยกมือ 153 เสียง ผ่านกม.ประชามติ ฉบับกมธ.ร่วมฯ ยึดเสียงข้างมากสองชั้น
วันนี้ (17 ธ.ค. 2567) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการร่วมกัน พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งมีมติเห็นชอบร่างแก้ไขของวุฒิสภา ที่แก้ไขด้วยเกณฑ์ผ่านประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้เกณฑ์ผ่าน 2 ชั้น คือต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ใช้เสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามติ
นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว. อภิปรายว่า การออกเสียงประชามติข้างมากชั้นเดียว เป็นที่นิยมในหลายประเทศ เพราะมีไม่กี่ประเทศที่ใช้การออกเสียงประชามติ 2 ชั้นที่สร้างปัญหา มากกว่าข้อดี และรูปแบบรัฐเป็นสหพันธรัฐ เพื่อไม่ให้รัฐใหญ่ใช้พวกมาลากไป แต่ประเทศไทยเป็นรัฐเดียว จึงควรใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว พร้อมอ้างตัวอย่างการใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น เหมือนการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ในปี 2559 ที่กฎหมายเดิมใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก2 ชั้น ก่อนมีการเปลี่ยนเป็นเสียงข้างมากชั้นเดียว เพราะเสียงข้างมาก 2 ชั้น ถูกรณรงค์ให้คว่ำง่ายมาก เมื่อ คสช.อยากให้รัฐธรรมนูญฉบับ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผ่าน ก็มีการแก้ไขกฎหมาย กลับมาใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว
“เมื่อประชาชนอยากมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนบ้าง ก็มีการแก้ไขกฎหมายประชามติ กลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น เสมือนเวลาโจรอยากมาขึ้นบ้าน ก็เอาบันไดมาพาด พอโจรขึ้นไปแล้ว ไม่อยากให้เจ้าของปีนตามขึ้นไป ก็ถีบบันไดทิ้ง” นายนรเศรษฐ์ กล่าว
นางอังคณา นีละไพจิตร สว. อภิปรายว่า ที่ผ่านมาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเรื่องประชามติ ล้วนเป็นการทำประชามติแบบเสียงข้างมากปกติทั้งสิ้น และวันนี้เราตอบคำถามกับประชาชนไม่ได้ว่าทำไมเราถึงใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ทำไม สว.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประชามติ ที่จะให้กลับมาใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและประชาชนจับตามองโดยการแก้ไขให้กลับมาเป็นเสียงข้างมากปกติจะลดความซับซ้อนของการทำประชามติและนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับบริบทของสังคม และวันนี้บทบาทของวุฒิสภากำลังถูกจับตามองทั้งจากคนไทยและองค์การระหว่างประเทศ
“ดิฉันหวังว่า สว.จะพิจารณเรื่องนี้อย่างรอบคอบและระมัดระวัง โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ เพราะประชาชนกำลังจับตาว่าวุฒิสภากำลังทำอะไร มติจะออกมาอย่างไร การแก้ไขเพื่อใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ถึงแม้สว.ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับเสียงข้างมาก 2 ชั้น แต่ดิฉันเชื่อมั่นว่า สส.จะยืนยันหลักการแก้ไขให้เป็นเสียงข้างมากชั้นเดียว แม้จะรอระยะเวลาอีก 6 เดือนจึงจะสามารถประกาศใช้ นั่นไม่เป็นปัญหา และวุฒิสภาอาจจะถูกกล่าวหาว่าการยืนยันให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น อาจจะเป็นเพียงความต้องการที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้าที่ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย “นางอังคณา กล่าว
น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. อภิปรายว่า ร่างกฎหมายประชามติ ถูกนำมาใช้เป็นเกมการเมือง เพื่อยืดเยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป จนไม่เห็นอนาคต และครั้งนี้หากวุฒิสภาลงมติเห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้นซึ่งไม่เกินคาดหมาย และทางสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันเป็นเสียงข้างมากชั้นเดียว ก็จะต้องใช้เวลาพักร่างกฎหมาย 180 วัน ซึ่งจะนานไปถึงกลางปี 2568 อย่างนี้เรียกว่าเกมยืดเยื้อหรือไม่ แล้วทำไมต้องยืดเยื้อ
“เป็นความบังเอิญอย่างร้ายกาจหรือเปล่า ที่หัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เร่งด่วน หลังจากนั้นการลงมติของวุฒิสภาก็ยืดเยื้อไป การลงมติเช่นนี้เป็นไปตามใบสั่งของใครหรือไม่ดิฉันไม่ทราบ” น.ส.นันทนา กล่าว
น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า หลักการเสียงเสียงข้างมากชั้นเดียวมีข้อดีมากมาย นักวิชาการจำนวนมากสนับสนุนเพราะเป็นไปตามหลักสากล สมาชิกก็แสดงเหตุผลนับสนุนเสียงข้างมากชั้นเดียวแล้ว แต่มาวันนี้ตนขอตอกย้ำและยืนยันการลงประชามติด้วยเสียงข้างมากชั้นเดียวอีกครั้ง คืออย่าสองมาตรฐาน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติมาด้วยเสียงข้างมากชั้นเดียว พอจะแก้ไขทำไมต้องใช้เสียงข้างมากสองชั้น และระบบการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่นเป็นระบบเสียงข้างมากชั้นเดียว ทำไมประชามติจึงต้องแปลกแยก
ขอถามว่าประเทศไทยเคยใช้วิธีการเลือกด้วยเสียงข้างมากสองชั้นหรือไม่ และอยากจะบอกว่าอย่าดัดจริต อย่าสองมาตรฐาน เราเป็นราชอาณาจักร ไม่ใช่สหพันธรัฐ หลักการประชาธิปไตยเช่นนี้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา การลงมติของสมาชิกวุฒิสภา จะถูกจัดจำไปตลอดว่าท่านเป็นผู้สนับสนุนการปกครองในระบบประชาธิปไตยแบบอารยะ หรือท่านเป็นผู้เหนี่ยงรั้งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย
นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกมธ.ร่วมกันฯ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ประชามติฉบับนี้มีรูรั่ว มีช่องว่าง ในกรณีหากสภาฯพิจารณาแล้วมีข้อสรุปว่าจะแก้รัฐธรรมนูญจะใช้เพียงแค่เสียงข้างมากชั้นเดียว จะไม่ใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นเช่นเดียวกันกรณีที่รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นฝ่ายเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะยึดเสียงข้างมากสองชั้น และตนยังมีคำถามว่ากรณีประชาชนเข้าชื่อ 5 หมื่นชื่อเสนอต่อสภาเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ แล้วสภาส่งต่อไปยังครม. ถามว่าต้องใช้หลักเกณฑ์ใดในการออกเสียงประชามติ ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือไม่
“วิปรัฐบาลมีมติไม่เห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ฉบับคณะกมธ.ร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่า 180 วันรออยู่ โดยนับแต่วันมะรืนนี้ เมื่อครบ180 วัน ก็จะมีการนำเสนอเพื่อให้สภายืนยัน จากนั้นรอ 3 วัน และ 5 วันเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในส่วนของการออกกฎหมายลูก เข้าใจว่า กกต.น่าจะใช้เวลา 1เดือน พอกฎหมายประกาศใช้ก็เชิญสำนักงบมาพูดคุยว่าจะใช้เงินเท่าไหร่ เคาะมติครม. ต้องใช้เวลาไม่90-120 วัน โดยกระบวนการทั้งหมดประมาณ 10เดือนครึ่ง ผมคิดว่าเราจะได้ทำประชามติครั้งแรกในเดือน มค.69 จากนั้นเดือน ก.พ. จึงจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา256 ดังนั้น เรื่องที่ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 70 ลืมไปได้เลย เหมือนจะให้พระอาทิตย์ขึ้นทิศตะวันตก เกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในเดือนเม.ย.69 คาดว่ามาตรา 256 จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา หากสว.ไม่ให้ผ่าน ซึ่งช่วงนั้นสภาปิด ก็ต้องรอวันที่ 3 ก.ค. เปิดสมัยประชุมสุดท้าย ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ทัน เท่ากับสสร.ก็ไม่ได้ ถามว่าท่านจะแบกรับไหวหรือไม่” นายนิกร กล่าว
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกมธ.ร่วมฯชี้แจงว่า หลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นในการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ เสี่ยงเปิดช่องให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการทำประชามติ ทำให้ฝ่ายที่ไม่อยากให้ประชามติผ่าน มีช่องทางใหม่เอาชนะการทำประชามติ แทนที่จะเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิลงคะแนนไม่เห็นด้วย ก็ไปรณรงค์ให้ประชาชนนอนอยู่กับบ้าน ก็สามารถคว่ำประชามติได้ ที่ตลกร้ายกว่านั้น เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น จะทำให้ประชาชนมาใช้สิทธิออกเสียงน้อย เพราะไม่อยากให้ประชามติผ่าน ขัดกับหลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น ที่อยากให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเยอะๆ การลงมติของสว. หากต้องการยืนยันเสียงข้างมาก 2 ชั้น ขอให้ลงมติสนับสนุนด้วยใจจริง อย่าลงมติเพียงเพื่อต้องการใช้กลไก ยุทธศาสตร์ ชะลอหรือขัดขวาง เพราะไม่อยากให้การแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จ
นายพิศิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ในฐานะกมธ.ร่วมฯชี้แจงว่า จากการสำรวจความเห็นประชาชนของนิด้าโพลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นในการทำประชามติ มีเสียงเห็นด้วย 51.4%สนับสนุนให้ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงในการทำประชามติ และเสียงอีก 59.84%เห็นด้วยจะต้องมีเสียงเห็นชอบทำประชามติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง
ขอยืนยันว่า สว.ไม่มีเกมการเมืองในการยื้อแก้รัฐธรรมนูญ สว.ทุกคนมีอิสระในการคิด เลือก ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง การระบุว่า หากกฎหมายประชามติต้องยื้อการบังคับใช้ออกไป 180วัน อาจมีรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ทันการเลือกตั้งปี2570นั้น ถามว่า ใครเป็นผู้กำหนดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปี2570 และถ้าใช้รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ทันจริงๆ จะมีผลกระทบอะไรต่อประชาชน ตอนนี้ประชาชนเดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องรอง ส่วนการระบุว่า การใช้เสียงข้างมาก 2ชั้นเป็นการรณรงค์ให้คนนอนหลับทับสิทธิ์นั้น ไม่เชื่อว่าจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนนอนหลับทับสิทธิ์ ไม่มีใครกล้าพูดแบบนี้แน่ เพราะบ่งบอกความไม่เป็นประชาธิปไตย สว.ไม่ต้องการ พ.ร.บ.ประชามติที่ดีที่สุด แต่ต้องการได้พ.ร.บ.ประชามติที่ยืดหยุ่น สามารถนำไปใช้ได้ทุกสถานการณ์ ทั้งนี้เสียงข้างมาก 2ชั้น จะใช้เฉพาะกรณีแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นๆ ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่สว. อภิปรายแสดงความเห็นครบถ้วนแล้วได้ลงมติ ผลปรากฏว่า มติวุฒิสภา 153 เสียงเห็นด้วยกับกรรมาธิการร่วม ต่อ 24 เสียงและงดออกเสียง 13 เสียง ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไปต้องรอให้สภาฯลงมติในรายงานของกรรมาธิการร่วม ซึ่งสภาฯ ได้นัดลงมติวันที่ 18 ธ.ค.นี้ หาก สส. ลงมติแย้งกับสว. จะเป็นผลให้ ร่างพ.ร.บ.ประชามติ (ฉบับแก้ไข) ต้องถูกยับยั้งไว้ เป็นเวลา 180 วัน
โดย paranee_s