รวบ 2 คู่หูแก๊งคอลฯ หลอกเป็นจนท.ธนาคาร-ผู้หมวดมุกดาหาร ตุ๋นเหยื่อสูญเงินรวมกว่า 300 ล้าน

วานนี้ ( 5 ธ.ค.67) สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายมาแจ้งความว่าได้ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงว่า มีการตรวจสอบข้อมูลพบชื่อของผู้เสียหายถูกนำมาใช้แอบอ้างเปิดบัญชี และนำมาใช้ทำธุรกิจผิดกฎหมาย ต่อมาจึงได้มีการโอนสายให้คุยกับบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร และโอนสายต่อให้กับบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อมาผู้เสียหายรู้ตัวว่าโดนหลอก จึงมาแจ้งความร้องทุกข์  รวมความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท. จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ ทำการสืบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน และออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการดังกล่าว

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ กก.2 บก.สอท.1 ได้สืบสวนจนทราบว่าผู้ร่วมขบวนการ ที่รับบทเป็นเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์สาย 1 และสาย 2 ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย พ.ต.อ.กฤช กัญชนะ ผกก.2 บก.สอท.1 จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ร่วมกันวางแผนจับกุม จนสามารถจับกุมตัว นางสาวลีลาวดี อายุ 30 ปี ชาว จ.อุบลราชธานี ตามหมายจับของศาลอาญา ที่ 4749/2567 ลงวันที่ 27 ก.ย.67 และ นายเจษฎา อายุ 31 ปี ชาว จ.กรุงเทพมหานคร ตามหมายจับของศาลอาญา ที่ 4748/2567 ลงวันที่ 27 ก.ย.67 ในข้อหา “ร่วมกัน ฉ้อโกงประชาชน และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และฟอกเงิน” โดยจับกุมตัวได้ที่บริเวณริมฟุตบาทใต้สะพานพระพุทธยอดฟ้า แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี จ.กรุงเทพมหานคร


เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การว่าทำหน้าที่รับสายโทรศัพท์ โดยนางสาวลีลาวดี หลอกเป็นสายแรก โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารพบว่ามีการเบิกถอนเงินแบบไม่ถูกต้อง และส่งต่อให้ นายเจษฎา เป็นหัวหน้าสายที่ 2 อ้างว่าตนเองเป็นตำรวจ ยศร้อยตำรวจโท สังกัด สภ.เมืองมุกดาหาร พร้อมเปิด video call คุยกับผู้เสียหาย

โดยช่วงหนึ่งผู้ต้องหา คือ นายเจษฎา สายที่ 2 เล่าวิธีการหลอกเหยื่อให้ตำรวจฟังว่า พอสาย 1 โทรไปบอกให้มาแจ้งความ ตัวเองสายที่ 2 ก็จะแสดงตัวเป็นตำรวจ โดยใช้น้ำเสียงดุดัน ฉะฉาน พร้อมทำให้ดูเป็นตัวอย่าง “สวัสดีครับ จาก สภ.เมืองมุกดาหาร ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น”  เหยื่อก็จะบอกว่า “เกิดเหตุเกี่ยวกับธุรกรรมขึ้น ธนาคารแนะนำให้มาแจ้งความ”  จากนั้นตนก็จะบอกกลับไปว่า “เดี๋ยวเช็คข้อมูลให้ มีส่วนไหนรั่วไหลออกไปหรือไม่ จนส่งผลให้ชื่อของเหยื่อนำไปถูกแอบอ้าง”

จากนั้นก็จะ ว. เช็คข้อมูลกัน พร้อมแจ้งชื่อเหยื่อ บอกเลขบัตร ปชช.เหยื่อ ซึ่งฝ่ายทะเบียนก็จะตอบกลับมาว่าให้รอข้อมูลสักครู่ ก่อนจะ ว. แจ้งกลับมาซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นการยัดคดีเลยว่าโดนคดีอะไร เช่น เหยื่อชื่อนี้ ถูกแอบอ้างบัญชีและมีเงินหมุนเวียนเท่านี้ๆ ซึ่งตามสคริปต์จะยกตัวอย่างยอดเงินประมาณ  9 ล้านบาท จากนั้นก็จะบอกเหยื่อว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องในคดีฟอกเงิน  ปลายสายที่เป็นเหยื่อก็จะตกใจ บางคนก็เชื่อไปโดยปริยายส่วนบางคนที่ไม่เชื่อก็ตัดสายทิ้ง

หากเชื่อก็จะอธิบายเรื่องคดีต่อให้ฟัง ทำเหมือนกับเป็นตำรวจจริงๆ พร้อมบอกว่าตำรวจจะตรวจสอบยอดเงินที่ผู้ต้องหายืนยันว่าให้เงินส่วนแบ่งกับคุณมาแล้ว โดยส่งข้อมูลให้กับ ปปง.ตรวจสอบ จากนั้นก็อธิบายให้เหยื่อฟังว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปควบคุมตัวที่บ้าน เพื่อนำตัวไปฝากขังเป็นเวลา 90 วัน เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน  ขณะเดียวกันจะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบระยะไกลด้วยการให้เหยื่อต้องส่งทรัพย์สินให้กรมบัญชีกลางตรวจสอบ ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาในการตรวจสอบ 90 นาทีและไม่มีการวางสายโทรศัพท์ จนกว่าจะตรวจสอบเสร็จสิ้นและมีการโอนเงินกลับไป

นายเจษฎา เล่าต่อว่า พอถึงขั้นตอนนี้ลูกค้าก็จะโอนเงินมาทั้งหมดเลย  ซึ่งหากใครไม่เคยสแกนใบหน้าก็จะโอนได้ครั้งละ 49,000 บาท  และหากเรากินเงินต้นเขาจะหมดแล้วเราจะส่งเข้าไปต่อในสายที่ 3 เพื่อหลอกเอาเงินประกัน

นายเจษฎา กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่หลอกๆ มา ไม่ค่อยเจอคนมีเงิน เจอคนมีเงินน้อย เพราะเขาฉลาด ไม่หลงกล  ซึ่งหากโทรไปหลอกคนมีเงินเขาจะถามกลับมาทันทีว่า “โทรมาเป็นธนาคารหรอ คุณรู้หรือไม่กฏเหล็กสำคัญของธนาคารคืออะไร คือ เขาไม่โทรหาลูกค้า แล้งก็กดวางสายไปเลย”  ก่อนจะบอกว่าที่หลอกได้เยอะสุดคือยอด 50,000 บาท

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ได้มีการขยายผลต่อ โดยพบว่าเครือข่ายแก๊งคอลเซนเตอร์ที่อยู่ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ต่อมาได้ดำเนินการติดต่อประสานงานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจะปฏิบัติการทลายแก๊งคอลเซนเตอร์ดังกล่าว โดยจากการสืบสวนพบคนไทยทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/g0Yv1DbB_HA

โดย petchpawee_k

6 ธ.ค. 2567

242 views

EP อื่นๆ