นักวิชาการเผยโลกร้อนขึ้น ทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศรุนแรง เพิ่มมากขึ้นถึง 40%

นักวิชาการชี้โลกร้อนขึ้น ทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศรุนแรง เพิ่มมากขึ้นถึง 40% บางครั้งอาจเกิดขึ้นแม้บินอยู่ในท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง

วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ถึงเรื่องโลกร้อนขึ้นทำให้มีโอกาสที่เครื่องบินจะตกหลุมอากาศมากขึ้น พร้อมอธิบายเหตุผล ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความว่า โลกร้อนขึ้น โอกาสที่เครื่องบินจะตกหลุมอากาศมากขึ้น...เพราะอะไร?

1. เครื่องบินที่บินในบริเวณซีกโลกตะวันตก หรือบินจากโลกตะวันตกมายังซีกโลกตะวันออกมีโอกาสที่จะตกหลุมอากาศบ่อยขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกที่สูงขึ้นทำให้ลมกรด หรือ Jet stream ซึ่งเป็นลมที่ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการบินแปรปรวน

2. ลมกรดเป็นกระแสลมที่ไหลเวียนในระดับความสูงประมาณ 7 ถึง 16 กม. เหนือจากพื้นโลกมีความเร็วสูงมากถึง 200-400 กม./ชม. เป็นลมที่พัดจากทิศตะวันตกมายังทิศตะวันออกของโลก ดังนั้นถ้าเครื่องบินบินจากซีกตะวันตกมาทางซีกตะวันออกก็ควรวางแผนการบินให้บินตามกระแสของลมกรด จะทำให้มีความเร็วเพิ่มขึ้น ช่วยประหยัดพลังงานและลดเวลาในการบินสั้นลง แต่หากจะบินจากตะวันออกมาทางตะวันตกก็ควรบินหลบลมกรดให้มากที่สุด เพราะจะสวนกระแสลมทำให้ใช้เวลาการบินมากขึ้น

3. อุณหภูมิในบรรยากาศของโลกที่สูงขึ้น เนื่องจากโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ทำให้ลมกรดลดความเร็วลงในบางช่วง มีงานวิจัยระบุว่าอุณหภูมิในบรรยากาศที่สูงขึ้นในแถบทวีปอาร์กติกซึ่งร้อนขึ้นเกือบ 4 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกกำลังส่งผลให้กระแสลมกรด ซึ่งเป็นลมที่มีกำลังแรงพัดอยู่บนชั้นบรรยากาศในบางช่วงมีความเร็วลดลง ทำให้เกิดอากาศแปรปรวนในขณะที่อากาศปลอดโปร่ง (Clear Air Turbulance) มากขึ้น (ทั้งที่ไม่ได้บินผ่านเมฆหรือพายุ) เนื่องจากช่วงที่ความเร็วของลมกรดลดลง จะทำให้ความหนาแน่นของมวลอากาศในช่วงบริเวณดังกล่าวบางลง ซึ่งทำให้เกิดหลุมอากาศขึ้น ในขณะที่เครื่องบินได้บินผ่านหลุมอากาศ แรงยกจากปีกของเครื่องบินจะลดลงอย่างกะทันหัน ทำให้ตัวเครื่องตกลงไปในหลุมอากาศ ซึ่งจะตกมากหรือน้อยอยู่ที่ขนาดของความหนาแน่นของมวลอากาศ

4. นักวิจัยชี้ว่าอัตราการเกิดหลุมอากาศจะเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าภายในปี 2050 และอาจมีเครื่องบินต้องเผชิญกับหลุมอากาศที่รุนแรงมากขึ้นถึง 40%




ต่อมา นายสนธิ ก็โพสต์อีกครั้ง ระบุข้อความว่า เครื่องบินอาจตกหลุมอากาศบ่อยขึ้นแม้บินอยู่ในท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง... สัมพันธ์กับการที่โลกเข้าสูภาวะโลกเดือด

1. โลกร้อนทำให้อุณหภูมิบนผิวโลกสูงขึ้น 1.2 ถึง 1.4 องศา จากยุคก่อนปฎิวัติอุตสาหกรรม ยิ่งระดับความสูงจากผิวโลกขึ้นไปเกือบ 20 กม.อุณหภูมิบรรยากาศยิ่งร้อนขึ้น จึงไปทำให้ลมระดับบนที่ระยะความสูงระหว่าง 7 ถึง 16 กม. จากผิวโลกที่เรียกว่าลมกรด ซึ่งมีความเร็วเฉลี่ย 200 ถึง 400 กม.ต่อชม.และเคลื่อนที่จากซีกโลกตะวันตกไปยังตะวันออกมีความเร็วลดลงในบางช่วงบางขณะ ซึ่งจะทำให้ความหนาแน่นของมวลอากาศบริเวณนั้นลดลงด้วยทำให้เกิดความแปรปรวนของอากาศ ทั้งที่อากาศช่วงนั้นปลอดโปร่งไม่มีพายุหรือเมฆฝนใดๆ เรียกว่า Clear Air Turbulance หากมีเครื่องบินบินผ่านแรงยกจากปีกของเครื่องบินจะลดลงอย่างกะทันหันและเครื่องจะตกลงไปในมวลอากาศที่บางลงซึ่งเรียกว่าการตกหลุมอากาศ

2. โลกร้อนขึ้น อุณหภูมิในบรรยากาศโลกสูงขึ้นอาจทำให้เกิดภาวะเครื่องบินตกหลุมอากาศมากขึ้น ทั้งๆ ที่เครื่องบินบินอยู่ในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งได้ ซึ่งเรื่องนี้เกิดบ่อยขึ้น นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาค้นพบว่าตั้งแต่ปี 1979 ถึงปี 2020 มีเครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านั้นถึงร้อยละ 55 และมีความสัมพันธ์โดย ตรงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนพื้นโลกสู่บรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ

...หากไม่ดำเนินการใดๆ ในปี 2050 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเรียกว่า สภาวะโลกเดือด อาจจะทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงมากขึ้นถึง 40% แม้ขณะที่บินผ่านในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งก็ตาม



โดย chutikan_o

22 พ.ค. 2567

230 views

EP อื่นๆ