เปิด 4 ปัจจัย ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง 'บ้านขุนสมุทรจีน' 30 ปี ถูกเซาะหายแล้วกว่า 1 แสนไร่

ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ เป็น 1 ในพื้นที่ชายฝั่งที่ประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะมานานกว่า 50 ปี แล้ว ทำให้ชาวบ้านต้องย้ายที่ตั้งของชุมชนอยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพชายฝั่งที่เปลื่ยนแปลงไป ซึ่งจนถึงตอนนี้ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงถูกส่งต่อสู่เยาวชนรุ่นถัดไป ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นต่อเนื่อง



อลิสา ผลไธสง วัย 19 ปี ที่เติบโตในชุมชนขุนสมุทรจีน เล่าถึงชีวิตในวัยเด็กของเธอ เมื่อทุกครั้งที่มาเล่นกับเพื่อนๆ ที่ลานกิจกรรมของโรงเรียนบ้านขุนสมุทรจีน แต่มาวันนี้ พื้นที่แห่งความทรงจำกลับกลายเป็นที่ทับถมของขยะที่พัดมากับสายน้ำ ซึ่งเป็นผลของปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งที่สะสมมานานกว่า 50 ปี



ตำบลแหลมฟ้าผ่า จึงไม่ใช่แค่ชื่อที่ตั้งขึ้นมาลอยๆ เพราะที่นี่ เกิดพายุขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ครอบครัวของเธอต้องย้ายบ้านมาแล้วถึง 3 ครั้ง จากลมพายุและแผ่นดินที่หายไป



ขณะที่สภาพอากาศในปัจจุบันรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เงินที่หามาได้ก็ต้องสำรองไว้ซ่อมแซมหรือสร้างบ้านใหม่ เช่นเดียวกับครั้งที่ปู่ย่าตายายและพ่อแม่ของเธอต้องพบเจอ จนไม่แน่ใจแล้วว่าลูกสาวของเธอจะสามารถอาศัยอยู่ที่นี่ได้หรือไม่เมื่อเติบโตขึ้น



การกัดเซาะชายฝั่งยังส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศบริเวณบ้านขุนสมุทรจีน จนสัตว์น้ำท้องถิ่นบางชนิดหายไป



เช่นหอยพิมพ์ ที่สามารถพบเห็นได้มากมายจนเป็นสัตว์เศรษฐกิจของชุมชน ก็หายไปจากธรรมชาติในช่วง 30 ปี มานี้ แม้กระทั่งสัตว์น้ำอีกหลายชนิดก็ลดจำนวนลง ทำให้ชาวประมงต้องเปลี่ยนรูปแบบการประกอบอาชีพ เพื่อความอยู่รอด



ศ.ดร. ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ราชบัณฑิต ผู้จัดทำงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ กรณีศึกษานำร่องเพื่อการออกแบบ ณ บ้านขุนสมุทรจีน เปิดเผย 4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ประกอบด้วย การเพิ่มของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเฉลี่ย 4 มิลลิเมตรต่อปี การทรุดตัวของแผ่นดิน การพัฒนาแหล่งต้นน้ำจนส่งผลต่อ ตะกอนดินที่หายไป และการขุดลอกแม่น้ำ โดยสาเหตุหลักมาจากแผ่นดินทรุด กว่าร้อยละ 70 และ ปัญหาโลกร้อนที่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 16



โดย 30 ปีที่ผ่านมา ชายหาดบริเวณนี้ถูกกัดเซาะไปแล้วกว่า 1 กิโลเมตร คิดเป็นเฉลี่ย 30 เมตรต่อปี หรือ พื้นที่ที่หายไปกว่า 100,000 ไร่



วัดขุนสมุทรจีนที่ตั้งอยู่กลางทะเลในตอนนี้ คือหลักฐานเดียวที่ยืนยันการมีอยู่ของแผ่นดินและที่ตั้งของชุมชน ซึ่งโบสถ์หลังเดิมตอนนี้แทบจะจมอยู่ใต้น้ำแล้ว



ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านขุนสมุทรจีน เล่าว่า ปัญหาการกัดเซาะนับวันยิ่งรุนแรงขึ้น ชุมชนจึงทำได้แต่หาวิธีป้องกัน ซึ่งมีเพียงเขื่อนเสาสามเหลี่ยม และ เขื่อนไม้บางส่วน ขณะที่ความช่วยเหลือหรือแนวทางแก้ไขปัญหาจากภาครัฐก็เงียบหายแม้จะมีกระแสข่าวต่อเนื่อง



ปัจจุบันประเทศไทยยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มของระดับน้ำทะเล จนอาจทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองติดทะเลแห่งใหม่ของโลก



ซึ่ง ข้อมูลรายงานแห่งชาติฉบับที่ 4 ปี 2565 ระบุว่า ช่วงไม่กี่ปีมานี้พื้นที่ชายฝั่งในประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตการถูกกัดเซาะ มากถึง ร้อยละ 23 ทำให้เสียแผ่นดิน ราว 1-5 เมตรต่อปี ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่า 6,000 ล้านบาท



ขณะเดียวกันปัญหานี้ยังเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยมีการคาดการณ์ไว้ว่าภายในปี พ.ศ. 2575 หรือ ค.ศ. 2030 จะมีเมืองอย่างน้อย 7 เมืองในภูมิภาคเอเชียได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อทุกชีวิตอย่างเลี่ยงไม่ได้

โดย panwilai_c

28 ก.ย. 2567

144 views

EP อื่นๆ