สิ่งแวดล้อม

Alien Species อันตพาลแห่งระบบนิเวศ

โดย fahsai

7 ส.ค. 2567

114 views

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อของ ‘‘ปลาหมอคางดำ’’ นั้นกำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมาก เนื่องจากปลาหมอคางดำนั้นเป็นสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (Invasive Alien Species : IAS) ที่กำลังระบาดหนักในอ่าวไทยรูปตัวกอ เช่น ระยอง จันทบุรี ชลบุรี ลงไปถึงทางใต้ในจังหวัดสงขลา ทำให้ชาวประมงและสัตว์น้ำชนิดอื่นได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยลักษณะของมันนั้นจะคล้ายกับปลาหมอเทศ ปลานิล แต่บริเวณใต้คางจะมีสีดำ ลักษณะพิเศษคือ หาอาหารเก่ง กินได้ทั้งพืชและสัตว์ อีกทั้งปลาหมอคางดำยังกินตัวอ่อนสัตว์น้ำอื่นด้วย มันกินทั้งลูกกุ้ง ลูกปู ลูกปลา ซึ่งเป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และทำให้สัตว์น้ำในธรรมชาติลดลงเป็นจำนวนมาก  เพื่อตระหนักถึงความสำคัญต่อระบบนิเวศในบ้านเรา จึงขอพาไปทำความรู้จักกับความหมายของ “เอเลียนสปีชีส์” (Alien Species) ที่นับว่าเป็นวายร้ายต่อความสมดุลของระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพที่รุนแรงจนเรานั้นคาดไม่ถึง    

เอเลียนสปีชีส์  หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่น คือ ชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ชนิดพันธุ์ท้องถิ่น ที่มาจากถิ่นอื่น ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรืออาจจะเป็นการนำเข้าโดยมนุษย์ เพื่อทำการเพาะเลี้ยง หรือเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งพืช สัตว์ รวมถึง เชื้อรา จุลินทรีย์ เป็นต้น โดยการจะอาศัยและปรับตัวได้อย่างเหมาะสมนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในที่นั้น ๆ และชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอาจส่งผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศเดิมที่เป็นอยู่ให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

โดย ‘‘เอเลียนสปีชีส์ ’’ แบ่งชนิดได้ 2 ประเภท คือ

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ไม่รุกราน (Non-Invasive Alien Species) เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาแล้วไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยตรง มีสภาพการดำรงชีวิตที่ไม่ขัดต่อพันธุ์ท้องถิ่นชนิดอื่น และสมดุลของระบบนิเวศ เช่น ปลาทองที่จัดเป็นเอเลียนสปีชีส์ที่ไม่มีพิษภัยต่อระบบนิเวศ อีกทั้งยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจของประเทศไทยอีกด้วย มีการพัฒนา สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศ และสร้างรายได้ให้กับประเทศได้

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน  (Invasive Alien Species) เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาแพร่พันธุ์และตั้งถิ่นฐานได้อย่างรวดเร็ว ปรับตัวและแข่งขันกับพันธุ์ท้องถิ่น และอาจส่งผลกระทบทำให้พันธุ์ท้องถิ่นสูญพันธุ์ได้ มีการดำรงชีวิตที่ขัดต่อสมดุลระบบนิเวศ และยังคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัย อีกทั้งอาจเป็นศัตรูต่อผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอีกด้วย เช่น ปลาหมอคางดำ ปลาซักเกอร์ ที่เป็นภัยต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำพันธุ์ท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งผักตบชวา ที่สร้างปัญหาต่อระบบนิเวศทางน้ำ อีกทั้งยังเป็นปัญหาต่อการระบายน้ำในแม่น้ำลำคลองอีกด้วย

ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยแต่หลายประเทศทั่วโลกต่างประสบปัญหาการรุกรานของสัตว์ชนิดพันธ์ต่างถิ่นที่ไม่สามารถควบคุมได้ ในปี 2566  มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการพบ ปลาช่อนอาร์กัส หรือ ปลาช่อนเหนือ ในรัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยปลาชนิดนี้เป็น เอเลียนสปีชีส์ เป็นสัตว์สายพันธุ์รุกราน ที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อปลาพื้นถิ่น มีลักษณะลำตัวเรียวยาว มีเกล็ดคล้ายงูหลาม มีความยาวได้ถึง 1 เมตร มีฟันแหลมคม นิสัยดุร้าย และกินไม่เลือก เป็นปลานักล่าที่กินปลาอื่น กินสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง กบ สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก รวมถึงนกตัวเล็ก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นอกจากนี้ยังสามารถหายใจเอาอากาศเข้าไปได้ จึงสามารถอยู่รอดได้หากไม่มีออกซิเจนในน้ำ ตราบใดที่ยังอยู่ในพื้นที่ที่มีความชื้น ก็สามารถมีชีวิตอยู่บนบกได้หลายวัน โดยเคลื่อนที่ด้วยการเลื้อยเหมือนงู โดยปลาชนิดดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ทำให้สำนักงานสำรวจธรณีวิทยา (U.S. Geological Survey หรือ USGS) ต้องแถลงขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันกำจัดและเฝ้าดูปลาช่อนเหนือ (the northern snakehead fish) หรือ ปลาช่อนอากัส (Channa argus) ซึ่งถือเป็นสัตว์รุกรานที่มีอันตรายอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศน้ำจืดของประเทศ โดยย้ำว่าหากปล่อยไป ปลารุกรานอันดับต้น ๆ ของอเมริกาชนิดนี้จะทำลายล้างระบบนิเวศ เช่นทำลายปลาและสัตว์อื่น ๆ ที่เป็นสัตว์ท้องถิ่นให้สูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว

เห็นได้ว่าสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานนั้นเป็นปัญหาที่ควรให้ความสำคัญเนื่องจากส่งผลกระทบในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม  ผลกระทบต่อชนิดพันธ์ท้องถิ่น จากการแก่งแย่ง การแทนที่หรือบริโภคสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่น ทำให้ชนิดพันธ์ท้องถิ่นลดอัตราการเจริญเติบโต และอาจลดจำนวนประชากรลงจนถึงขั้นต้องสูญพันธุ์ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางพันธุกรรม เนื่องจากชนิดพันธ์ต่างถิ่นทำให้จำนวนประชากรชนิดพันธุ์ท้องถิ่นมีลักษณะเด่นทางพันธุกรรมต้องลดจำนวนลงหรือเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ อีกทั้งยังส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากทำให้ผลผลิตเกิดความเสียหาย  และยังส่งผลกระทบในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านสังคม สุขอนามัย โดยการเป็นพาหะนำโรค มาสู่มนุษย์ สัตว์ และพืช

    แล้วประชาชนหรือชาวประมงจะมีวิธีการรับมือกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหรือ  “เอเลียนสปีชีส์” ได้อย่างไร ?

-    ไม่เพาะเลี้ยง หรือปล่อยพันธุ์เอเลี่ยนสปีชีส์ลงสู่แหล่งน้ำ

-    หากเจอชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Species) ให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมประมง และจับ เพื่อไม่ให้แพร่กระจายไปยังแหล่งอื่น

-    การใช้ปลานักล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลากดทะเล หรือปลานักล่าอื่น เพื่อทำลายลูกปลาหมอคางดำ แต่ควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของปลานักล่าด้วย

-    สร้างองค์ความรู้ ปลูกฝังจิตสำนึก เกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Species) ว่าประเภทไหนครอบครองและเพาะเลี้ยงไม่ได้ หรือจะมีวิธีการกำจัดตัวเพาะเลี้ยงอย่างไรไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ  

ทั้งนี้ ในกรณีของ “ปลาหมอคางดำ” ถือเป็นบทเรียนสำคัญและคำถามก้อนโตที่ภาครัฐและประชาชนอย่างเรา ควรที่จะตระหนักคิด ควรที่จะจริงจังกับการจัดการปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ที่เป็นปัญหาต่อระบบนิเวศ และช่วยกันรักษาสมดุลของธรรมชาติให้อยู่กับเราได้นานที่สุดต่อไป



แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

 https://th.kku.ac.th/191945/


 https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B9%8C%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99/


  https://theactive.net/data/alien-species/


https://www.thaipbs.or.th/now/content/548


 https://www4.fisheries.go.th/index.php/doffile/fkey/ref11967


 https://www.sanook.com/news/9433846/


https://www4.fisheries.go.th/local/pic_activities/201710191345241_pic.pdf


https://www.sdgmove.com/2021/08/21/sdg-vocab-50-invasive-alien-species/




คุณอาจสนใจ