สิ่งแวดล้อม

ปัญหาขยะทะเลไทย ! ภัยร้ายที่หยุดได้ด้วยมือเรา

โดย fahsai

20 ก.พ. 2567

54 views

ทะเล เป็นหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่หลาย ๆ คนชื่นชอบ และมองว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวและ
พักผ่อนช่วงวันหยุด แต่ปริมาณนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากบวกกับการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้องส่งผลให้เกิด
ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงในทะเลและมหาสมุทรเพิ่มมากขึ้น   ปัจจุบันปัญหาขยะถือเป็นปัญหาของทุกคนบนโลก เนื่องจากทุกคนมีส่วนในการทำให้จำนวนขยะพลาสติกมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน ซึ่งในแต่ละปีคาดว่ามีขยะพลาสติกไม่น้อยกว่า 8 ล้านตันถูกทิ้งจากพื้นดินลงสู่ทะเลและมหาสมุทรส่งต่อให้ไปเป็นมลพิษของสัตว์ทะเลต่อไป ซึ่งประเทศไทยอยู่ใน 10 อันดับของประเทศที่มีการปล่อยขยะลงสู่ทะเลและมหาสมุทรมากที่สุด

โดยขยะทะเลที่พบมากที่สุด  10  อันดับแรก  ได้แก่ ขวดพลาสติกเครื่องดื่ม (22%) ถุงพลาสติก (19.42%) ขวดแก้ว (10.96%)  ห่อ/ถุงขนม (7.97%)  เศษโฟม (7.55%)  กระป๋องเครื่องดื่ม (7.46%)   กล่องอาหารประเภทโฟม (6.92%)   หลอด (6.45%)   ฝาพลาสติก (5.67%)   เชือก (5.61%) ขยะทะเลที่เกิดขึ้นล้วนสร้างอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิต และมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศในทะเล เช่น แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล
ป่าชายเลน และการตายของสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่า โลมา วาฬ พะยูน เป็นต้น

อันตรายจากขยะที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ทะเลสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการถูกขยะที่มีลักษณะแหลมคมทิ่มแทงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การถูกขยะผูกมัดติดกับร่างกายทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ หรือการที่สัตว์ทะเลกลืนกินขยะเพราะคิดว่าเป็นอาหารทำให้เกิดการอุดตันในกระเพาะส่งผลให้ร่างกายหยุดการทำงานและตายในที่สุด กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงานว่าในปี 2564 สาเหตุการเกยตื้นของเต่าทะเล พะยูน และกลุ่มโลมาและวาฬ เกิดจากติดเครื่องมือประมงและขยะทะเล ประมาณ
ร้อยละ 57, 10 และ 17 ตามลำดับ ในอนาคตคาดว่า แต่ละปีอาจมีแนวโน้มสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเพิ่มสูงขึ้นเพราะความเสื่อมโทรมของคุณภาพสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงที่เกิดตามธรรมชาติและจากกิจกรรมทางทะเลของมนุษย์   นอกจากนี้ขยะทะเลยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมโดยสร้างความเสียหายให้กับการเดินเรือ การประมง และสัตว์ทะเลจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อรายได้ที่มาจากการประมง และการท่องเที่ยว อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ เช่น การได้รับบาดเจ็บจากขยะบริเวณชายหาด การได้รับสารปนเปื้อนจากขยะทะเลพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ หรือย่อยสลายช้ามากจนกลายเป็น "ไมโครพลาสติก" ชิ้นเล็กๆ แล้วไปปนเปื้อนอยู่ในระบบนิเวศ รวมถึงห่วงโซ่อาหารในท้องทะเล และย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์จากการบริโภคอาหารจากสัตว์ทะเลที่มีการปนเปื้อน

เพื่อป้องกันผลกระทบจากขยะทะเลไม่ให้เกิดกับสัตว์ทะเล ระบบนิเวศ ระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมถึง
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเราทุกคน  การจัดการขยะอย่างถูกต้องนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมถึงพวกเราทุกคนด้วยเช่นกัน โดยสามารถช่วยกันลดการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลได้ด้วยการเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น หลอด ช้อนส้อมพลาสติก ถุงพลาสติก ตลอดจนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง  และสิ่งสำคัญคือการแยกขยะอยากถูกต้องเพื่อให้ขยะได้รับการกำจัดอย่าง
ถูกต้องและสามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างถูกวิธี




ที่มา

หนังสือ future trend ahead 2024

https://www.sdgmove.com/2023/07/26/plastic-pollution-sea-thailand/

https://healthenvi.com/how-to-reduce-trash-in-the-ocean/

https://nbjpolymer.com/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5/




คุณอาจสนใจ

Related News