สิ่งแวดล้อม

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทิ้งถูกดีสุดขีด ทิ้งผิดร้ายสุดขั้ว

โดย panisa_p

17 ส.ค. 2566

298 views

ท่ามกลางโลกปัจจุบันที่แสนทันสมัย เทคโนโลยีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากมายเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตปัจจุบันในด้านต่าง ๆ  กลายเป็นสิ่งสำคัญที่หลายคนขาดไม่ได้ ส่งผลให้จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกใช้แล้วทิ้ง ชำรุดเสียหาย หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์มีจำนวนมากขึ้นจนกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste ในที่สุด ซึ่งหากขยะเหล่านี้ไม่ได้มีการถูกกำจัดอย่างถูกวิธี ก็จะกลายเป็นขยะอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจนส่งเสียต่อมาถึงสุขภาพของมนุษย์


โดยสารพิษจาก E-Waste ที่ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีจะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้น้ำและดินปนเปื้อนสารพิษ อีกทั้งยังทำลายสุขภาพของมนุษย์ได้อย่างรุนแรง เนื่องจากโลหะหนักและสารอันตรายในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะทำให้มนุษย์เกิดอาการปวดหัว ท้องเสีย ระคายเคืองผิวหนัง และอาจร้ายแรงถึงขั้นทำลายระบบประสาท หรือก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วย


สาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ คือพฤติกรรมของคนทั่วไปในการอุปโภคเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการซื้อหรือเข้าถึงอุปกรณ์ที่สูงขึ้น รวมถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากรายงาน UN’s Global E-Waste Monitor 2020 พบว่า ในปีค.ศ. 2019 ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมีสูงถึง 53.6 ล้านเมตริกตัน เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 21 ในเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น แต่ในจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์หลายล้านเมตริกตันที่เกิดขึ้น มีขยะเพียงร้อยละ 17.4 เท่านั้นที่ถูกรวบรวม เพื่อส่งต่อไปยังสถานีรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันมีปริมาณเกือบเทียบเท่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกในโลกนี้ นอกจากนี้ ข้อมูลจาก GWI และ The Roundup ได้คาดการณ์ถึงปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2030 ว่าจะเพิ่มสูงถึง 74 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง


ในด้านของประเทศไทย จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าในปีพ.ศ. 2565 สถานการณ์ของเสียอันตรายจากชุมชนเกิดขึ้น 676,146 ตัน (เพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ. 2564 ร้อยละ0.99) โดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 439,495 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 65) และของเสียอันตรายประเภทอื่น ๆ เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ 236,651 ตัน (ร้อยละ 35) และถูกรวบรวมและนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีเพียง 86,967 ตัน (ร้อยละ 12.86)


ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่คนทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตามคนบางส่วนยังไม่ทราบถึงความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นและอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความเป็นจริงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงกว่าที่คิด โดยกุญแจสำคัญในการลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์

หรือ E-Waste คือการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุดจนหมดอายุการใช้งาน ต้องมีแรงจูงใจในการลดการอุปโภคที่เกินความจำเป็น ตลอดจนเรียนรู้และทำความเข้าใจวิธีจัดการ E-Waste เช่น การทิ้งอย่างถูกต้อง การแยกส่วนประกอบเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล หน่วยงานที่รับกำจัด E-Waste ที่ถูกต้อง


ในทางกลับกันการเก็บ E-Waste ไว้ ไม่ยอมทิ้ง ก็เป็นสาเหตุให้เราได้รับสารพิษโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน เพราะยิ่งเสื่อมสภาพมากเท่าไหร่ สารพิษเหล่านั้นก็จะยิ่งถูกปล่อยออกมาปนเปื้อนในอากาศที่เราสูดดมหรือสัมผัสโดยไม่รู้ตัวมากเท่านั้น อีกทั้ง การจัดการที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีโลหะชนิดต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบเข้าไปปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันก็เป็นการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เนื่องจากตัวโลหะต่าง ๆ ที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่า สามารถนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตต่อไปได้ หากได้รับการจัดการหรือผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่ถูกวิธี


จากผลกระทบต่าง ๆ ทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการหาวิธีการในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสม รวมถึงประเทศไทยด้วย หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเริ่มจับมือกันรณรงค์ ให้ความรู้ ตลอดจนร่วมหาวิธีการจัดการ โดยหลายหน่วยงานได้เปิดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ในองค์กร และตั้งจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามจุดต่าง ๆ ในชุมชน ให้ประชาชนนำ E-Waste ไปทิ้งเพื่อนำไปใช้ประโยชน์หรือกำจัดอย่างเหมาะสม อาทิ


•    มูลนิธิกระจกเงา รับบริจาคคอมพิวเตอร์ Notebook , Printer , Mouse , Keyboard , Scanner และอุปกรณ์พ่วงต่อทุกชนิด ทุกสภาพการใช้งาน

•    โครงการ “ถัง E-Waste” 52 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า และศาลาว่าการกรุงเทพมหานครดินแดง รับทิ้ง อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า และตลับหมึกเครื่องพิมพ์

•    โครงการ “CHULA Zero Waste” ของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับทิ้ง E-Waste ตามจุดที่กระจายอยู่ทั่วมหาวิทยาลัย

•    บริการ “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์”  กับบุรุษไปรษณีย์ โดยไปรษณีย์ไทย

•     โครงการจุดรับทิ้ง E-Waste โดย AIS จำนวน 2,400 จุดทั่วประเทศ

•    โครงการ “E-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ”  เปิดจุดรับทิ้งที่ศูนย์บริการทรู ทรูสเฟียร์ และดีแทค 154 สาขาทั่วประเทศ


โดยหน่วยงานต่าง ๆ จะรวบรวมและนำไปส่งต่อไปยังสถานที่จัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสมปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม โดยวิธีการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ในเบื้องต้นจะนำไปแยกส่วนประกอบและวัตถุที่มีค่าภายใน เช่น โลหะ เงิน ทองคำขาว และทองแดง ออกมา แล้วนำไปรีไซเคิล อีกทั้งยังแยกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ต้องการแต่ยังสามารถใช้งานได้ ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง โดยจะนำมาซ่อมแซม เพื่อบริจาคให้กับผู้ที่ขาดแคลนต่อไป ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด


จะเห็นได้ว่า หากเราแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกจากขยะประเภทอื่น ๆ และส่งต่อไปยังหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะแล้ว จะทำให้ลดอันตรายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งต่อตัวเราเอง และไม่เป็นภาระสิ่งแวดล้อมอีกด้วย  ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องหันมาสนใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการมีส่วนร่วมในการลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อโลกที่น่าอยู่ของเรา

คุณอาจสนใจ

Related News