เศรษฐกิจ

รอง ปธ.สภาองค์การนายจ้าง เห็นด้วยปรับเงินสมทบประกันสังคม เพิ่มเป็น 1,150 บาท

โดย passamon_a

12 ก.พ. 2566

286 views

ข่าวสด ออนไลน์ รายงานว่า จากกรณี สำนักงานประกันสังคม เชิญชวนนายจ้าง และผู้ประกันตน มาตรา 33 ร่วมแสดงความคิดเห็น "ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงสุด ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …" ในวันที่ 28 ก.พ.66 เพื่อปรับปรุงเพดานค่าจ้างขั้นสูง ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น และมีความเหมาะสม


โดยประเด็นสำคัญ ของร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยจะปรับฐานสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท อย่างค่อยเป็นค่อยไป สูงสุดไม่เกิน 23,000 บาท กำหนดอัตราใหม่ ตามกรอบเวลาแบบขั้นบันได 3 ระยะ ประกอบด้วย

ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท จะจ่ายประกันสังคมสูงสุดที่ 875 บาท

ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,000 บาท

ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,150 บาท


นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการปรับเพดานเงินสมทบประกันสังคมใหม่ โดยจะหารือในฐานะประธานสภาแรงงานแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม ที่กระทรวงแรงงาน ในวันที่ 15 ก.พ.นี้


โดยจะสอบถามรายละเอียดการคิกออฟในหลายโครงการ ซึ่งการปรับเพดานเงินสมทบประกันสังคมใหม่ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่กองทุนนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา


"สำหรับลูกจ้างในอีก 2-3 ปีข้างหน้า อาจปรับขึ้นเงินเดือน 200-300 บาท การจ่ายประกันสังคมเพิ่มเพียง 10 บาท/วัน เพื่อแลกมากับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นถือว่าคุ้มค่า ส่วนนายจ้าง อย่างเอสเอ็มอีที่มีแรงงานไม่เกิน 500 คน ก็จ่ายเงินสมทบคิดเป็น 5,000 บาทต่อวัน ถือว่าโอเค และไม่เป็นการเพิ่มภาระมากเกินไป


แต่ประกันสังคมเองต้องตอบให้ได้ว่า เมื่อรับเงินไปแล้วจะนำไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนอย่างไร ด้านใดบ้าง โดยอาจจะต่อยอดจากสิทธิประโยชน์เดิม หรือเพิ่มเติมสิ่งใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตนในปัจจุบันมากขึ้น เช่น การเพิ่มวงเงินการตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น"


นายธนิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กรณีลูกจ้างลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน ยังทราบว่าสำนักงานประกันสังคมจะจัดเก็บเงินชดเชยวงเงินของลูกจ้าง แต่ละคนให้ได้ 25% แล้วให้นายจ้างจ่ายสมบท เพื่อป้องกันบทเรียนครั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หลายบริษัทเจ๊ง ปิดตัวลง นายจ้างหนีและไม่จ่ายเงินสบทบให้ลูกจ้าง จนสำนักงานประกันสังคมต้องเป็นผู้รับผิดชอบ


"เรื่องนี้หากทำได้จริง ควรเก็บในอัตราที่เป็นค่อยเป็นค่อยไป เพราะจ่ายก้อนเดียวจะเป็นภาระที่หนักมาก จึงยังไม่เห็นด้วย แต่จะขอหารือกับประกันสังคมเพื่อทราบในรายละเอียดก่อน จึงเสนอข้อคิดเห็น"



รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/gwMO6z7y95k


คุณอาจสนใจ