เศรษฐกิจ

‘ศิริกัญญา’ เตือนรัฐบาลปรับโครงสร้างภาษีให้ดี หวั่นชนชั้นกลางกลายเป็น ‘เดอะ แบก’

โดย petchpawee_k

6 ธ.ค. 2567

202 views

ศิริกัญญา เตือนรัฐบาลศึกษาปรับโครงสร้างภาษีใหม่ให้ดี หวั่นกลายเป็นการจัดเก็บภาษีไม่เป็นธรรม ไม่ช่วยลดช่องว่างคนจน-คนรวย  คนชั้นกลางกลายเป็นเดอะแบก จ่ายภาษีหลังหัก  

จากกรณีกระทรวงการคลังเร่งศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ หรือ Flat Rate เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยภาษีเงินได้นิติบุคคล จะศึกษาการจัดเก็บ จาก 20% เป็น 15% ,  ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจพิจารณาจาก 35% เป็น 15% เพื่อจูงใจการทำงานในประเทศไทย  และภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat)   ที่จะศึกษาจัดเก็บจาก 7% เป็น 15% เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย

เมื่อวานนี้ (5 ธ.ค.67) นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ในรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว ว่า เรื่องนี้เข้าใจว่านายพิชัย  ชุนหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการศึกษา แต่นายพิชัยพูดเรตอัตราภาษีใหม่ออกมาชัดเจน ตนจึงต้องขอแสดงความคิดเห็นในส่วนที่คิดว่าอาจจะกลายเป็นปัญหา

ประเด็นแรก การปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะปรับเป็น 15% แบบไม่มีขั้นบันได คือ ทุกคนเสียภาษีในอัตรา 15% ของเงินเดือนเท่ากันหมด  รวมทั้งยกเลิกการลดหย่อนต่างๆ  นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า หากมาคิดดีๆ แล้วว่าใครจะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 15%  ปรากฎว่า คนทั่วไปที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 3 แสนบาท  หรือมีรายได้ 3.6 ล้านบาทต่อปี จะเสียภาษีจริงๆ ไม่ถึง 15% ของรายได้  โดยใช้สูตรคำนวนเอาภาษีเงินได้ที่เราจ่าย หารด้วยรายได้ก่อนหักลดหย่อน  

แต่ถ้าหากใช้โครงสร้างภาษีใหม่ คนที่มีเงินเดือนน้อยกว่า 3 แสนบาทต่อเดือน ต้องเสียภาษีเพิ่มกันทุกคน เช่น คนที่มีเงินเดือน 2-3 หมื่นบาท  ก็จะต้องเสียภาษีเท่ากับเงินเดือน 1 เดือน   / แต่คนที่จะได้ประโยชน์จากโครงสร้างภาษีใหม่และเสียภาษีน้อยลง คือ กลุ่มคนที่มีเงินเดือนเกิน 3 แสนบาทต่อเดือน  ดังนั้นจึงไม่ใช่การลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม และขัดกับหลักการภาษีเบื้องต้น ที่ต้องเป็นธรรม คนรายได้สูงต้องเสียภาษีมากกว่าคนที่มีรายได้น้อยกว่า  อีกทั้งจากโครงสร้างนี้ ก็ไม่มีใครการันตีได้ว่า รัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มหรือไม่

ส่วนเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ปัจจุบันมีเพดานสูงสุดที่ 20% และรัฐบาลมีแนวคิดจะลดลงมาอีกเหลือ 15% สาเหตุเนื่องจากต้องปรับให้สอดคล้องกับกฎขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ออกข้อกำหนดใหม่ภายใต้ OECD Pillar 2 กำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำที่ 15% สำหรับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้เกิน 750 ล้านยูโร หรือประมาณ 27,000 ล้านบาท  เพื่อยุติการแข่งขันลดอัตราภาษีระหว่างประเทศ หรือ Race to Bottom  (อย่างเช่นบริษัทที่ได้รับสิทธิพิเศษจากบีโอไอ ต่างก็เสียภาษีแค่ 7-8% น้อยกว่าเพดานสูงสุด 20%ทั้งนั้น)นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า เมื่อเราเข้าร่วมเป็นภาคีแล้ว ก็ต้องทำตามกฎของ OECD Pillar 2  ซึ่งตามกฎนั้น ระบุว่า ไม่ให้เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่า 15% แต่ไม่ได้บอกว่า ห้ามเก็บภาษีสูงกว่า 15% ดังนั้นจึงไม่เข้าใจว่า ทำไมเราจึงต้องไปเก็บภาษีในอัตราขั้นต่ำสุด 15% ทั้งที่ภาษีส่วนนี้ภาครัฐเก็บได้เป็นกอบเป็นกำ และควรจะเพิ่มอัตราภาษีขึ้นด้วยซ้ำ  เพราะการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศนั้น ไม่ได้มีเหตุผลเรื่องของภาษีอย่างเดียว แต่หากเข้ามาแล้วค่าไฟแพง หรือแรงงานขาดทักษะ นักลงทุนก็จะไม่มาอีก

ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า ในอดีต กระทรวงการคลังเคยพยายามเสนอขึ้นแวต 10% มาอย่างยาวนาน  แต่เพิ่งจะเห็นตัวเลขขึ้นแวต 15% เป็นครั้งแรกในรัฐบาลนี้ ซึ่งขึ้นมามากเกินกว่า 2 เท่าจากเดิมที่เก็บอยู่ ทำให้ประชาชนตกใจ  ซึ่งนางสาวศิริกัญญา มองว่า ไม่ควรขึ้นเยอะขนาดนี้ เพราะเป็นภาษีที่มาจากฐานการบริโภค  ที่หลายประเทศพยายามลดสัดส่วนการเก็บแวต และไปเน้นเก็บภาษีเงินได้มากกว่า

จากที่หลายคนเข้าใจว่า คนจน-คนรวย ต่างเสียภาษีแวต เท่ากับหมด และอาจจะคิดว่าคนจนจ่ายมากกว่าคนรวย แต่มีผลการศึกษาที่ระบุว่า จริงๆ แล้ว คนรายได้น้อยจะถูกเก็บแวตประมาณ 2.2%จากรายได้  เพราะคนจนมักจะใช้จ่ายในสินค้าที่ไม่จ่ายแวต เช่น ซื้อของสดในตลาด ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว   ส่วนคนรวยก็ไม่ใช่กลุ่มที่จ่ายแวตสูงสุด เพราะจะจ่ายอยู่ที่ 2.5%ของรายได้  แต่คนที่อยู่ตรงกลาง คนชั้นกลาง จะเสียภาษีแวตมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ประมาณ 2.8%จากรายได้ เป็นลักษณะกราฟระฆังคว่ำ  ดังนั้นหากรัฐบาลจะจัดเก็บแวตเพิ่ม ก็ต้องศึกษาให้ดีว่า จะกระทบกับการตัดสินใจใช้จ่ายของประชาชนอย่างไร

นางสาวศิริกัญญา ยังระบุว่า คนชั้นกลางจะกลายเป็นคนแบกภาษี ตั้งแต่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ คนกลุ่มนี้ก็ต้องเสียภาษีเพิ่ม  หากปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ คนกลุ่มนี้ก็ต้องจ่ายเพิ่มมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ   ดังนั้นการจะปรับโครงสร้างภาษีใหม่ รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมมากกว่านี้  ซึ่งตนเข้าใจว่า ถึงเวลาที่จำเป็นต้องปฏิรูประบบภาษีครั้งใหญ่ เพราะฐานะการคลังของประเทศก็ไม่สู้ดี   รายได้จัดเก็บได้น้อยลง แต่คิดว่าไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนในรูปแบบนี้ที่จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม  


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/mKQLMFrpKsM


คุณอาจสนใจ

Related News