เศรษฐกิจ

‘ศิริกัญญา’ ซัดเปลี่ยนนายกฯคนเดียว เหมือนเปลี่ยน รบ.ใหม่ รอมา 2 เดือน นโยบายเศรษฐกิจ ไม่มีอะไรชัดเจน

โดย petchpawee_k

11 ชั่วโมงที่แล้ว

57 views

รัฐบาล ไฟเขียวแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เตรียมพักชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี เป็นระยะเวลา 3 ปี คาดเร็ว ๆ นี้ ได้ข้อสรุป


วันนี้ (19 พ.ย.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ โดยจะพักชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

"รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้หนี้สินภาคครัวเรือน และกลุ่มเอสเอ็มอี โดยมีแนวทางที่สำคัญคือ คลัง และกระทรวงพาณิชย์ จะสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้กลุ่มนี้ น่าจะเป็นกลุ่มที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะกลับมาฟื้นตัวได้" รองนายกฯ กล่าว

สำหรับเงื่อนไขของการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้กลุ่มนี้นั้น จะครอบคุลมลูกหนี้กลุ่มสำคัญ คือ กลุ่มที่มีหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ และหนี้จากการบริโภค รวมมูลหนี้ประมาณ  1.2-1.3 ล้านล้านบาท

นายพิชัย กล่าวว่า การช่วยเหลือลูกหนี้ครั้งนี้จะช่วยลดภาระลูกหนี้กลุ่มนี้ได้ เพราะการพักดอกเบี้ย 3 ปี จะช่วยเติมสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ได้มากขึ้น และคณะกรรมการกำลังพิจารณามาตรการเพิ่มเติมว่า ในช่วง 3 ปีแรกที่ชำระเงินกู้ จะปรับวงเงินผ่อนชำระให้ลดลงกว่าเดิมด้วย


ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ เห็นชอบหลักการช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท โดยที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการคลัง หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปต่อไป


“รัฐบาล จะดูแลกลุ่มเกษตรกรด้วยการเพิ่มค่าครองชีพผ่านการจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าโครงการให้ไม่เป็นภาระต่องบประมาณในระยะยาว โดยอาจปรับกรอบรายละเอียดโครงการบางส่วน” นายจุลพันธ์ ระบุ


สำหรับเหตุผลความจำเป็นของการหยิบยกโครงการการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ขึ้นมาอีกครั้งนั้น รัฐบาลเห็นว่า กลุ่มเกษตรกรยังคงเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางอยู่ แม้ว่าในขณะนี้ราคาพืชผลการเกษตรจะปรับตัวดีขึ้น แต่เกษตรกรหลายครอบครัวยังมีภาระหนี้อีกมาก รัฐบาลจึงมีแนวคิดเข้าไปดูแลให้ในระดับที่เหมาะสม


อย่างไรก็ตามในการดำเนินโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท เบื้องต้นจะเป็นโครงการที่เข้ามาดูแลเกษตรกรในระยะสั้น ส่วนในรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไรนั้น เร็ว ๆ นี้จะประกาศเงื่อนไขออกมาอีกครั้ง ขณะที่ในระยะยาว รัฐบาลจะหาทางปรับโครงสร้างการเกษตรทั้งระบบใหม่ให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น

------------------------------------

“ศิริกัญญา” เคลื่อนไหว ถามแจกเงินหมื่นคนสูงวัย 60 ปี แก้ปัญหาได้จริงหรือ บอกยังงงๆ 2 เดือนที่รอคอยกับรัฐบาลนี้ ไล่ทุบ ไม่มีอะไรชัดเจนสักอย่าง


เมื่อวานนี้ (19 พ.ย.67) นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ภายหลังคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจประชุมนัดแรก ระบุว่า


“อุตส่าห์รอมา 2 เดือนเต็ม! วันนี้คณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชุมนัดแรก เราได้ความชัดเจนอะไรกันบ้าง ลองมาดูกันนะคะ


1. แจกเงินหมื่นรอบที่ 2 (ยังไม่เป็น Digital Wallet) กับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป 3-4 ล้านคน โดยจะแจกประมาณต้นปีหน้า ช่วงตรุษจีน ยังไม่ชัดว่าแจกวันที่เท่าไหร่ ลงทะเบียนเพิ่มเมื่อไหร่

2. ปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบ้าน กลุ่มรถยนต์ และกลุ่มหนี้บริโภค ที่เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี วงเงินหนี้ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท จะได้รับพักชำระดอกเบี้ยค้างจ่าย รายละเอียดยังไม่ชัดต้องรอหลังวันที่ 20 พ.ย.

3. โครงการไร่ละพันก็มา (ปกติต้องเป็นคณะกรรมการนโยบายข้าว หรือ นบข.ต้องเป็นคนเคาะ) แต่จะมีการปรับรายละเอียดอีกเพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในระยะยาว ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะปรับอะไร ได้ข่าวว่าน่าจะปรับจากแจกไม่เกิน 20 ไร่ เหลือไม่เกิน 12 ไร่ เท่ากับจะได้บ้านละไม่เกิน 12,000 บาท จากเดิม 20,000 บาท

สรุปว่ายังไม่มีอะไรชัดเจนซักอย่าง จริงๆ นะ… แค่เปลี่ยนนายกคนเดียวนี่เหมือนอย่างกับตั้งรัฐบาลใหม่ เหมือนไม่เคยคิดเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจกันมาก่อนหน้านี้เลยต้องเริ่มต้นใหม่ต้องใช้เวลาถึง 2 เดือน


หรือว่า… เศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่สภาพัฒน์เพิ่งออกมาประกาศว่าโต 3% ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ อาจจะทำให้รัฐบาลรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ได้หรือไม่ ถึงได้ดูลังเล ไม่รีบร้อน


แต่ถ้าเราเจาะไส้ในของ GDP จะพบว่า ที่เศรษฐกิจโตดีมาจากงบปี 67 ที่ออกมาไตรมาส 2 และเร่งเบิกจ่ายกันในไตรมาส 3 ทั้งส่วนของรายจ่ายลงทุน และรายจ่ายประจำ บวกกับการส่งออกที่กลับมาดี และแน่นอนการท่องเที่ยวยังคงเติบโตได้ดี


แต่ส่วนที่ยังเป็นปัญหาคือการลงทุนภาคเอกชนที่ยังหดตัวมา 2 ไตรมาสติดแล้ว จากหมวดยานยนต์ และหมวดก่อสร้าง สอดคล้องกับยอดขายรถกระบะที่หดตัวลง (ใช่ค่ะรถกระบะเชิงพาณิชย์นับเป็นการลงทุน) และยอดขายบ้านที่ลดลง ที่ทั้ง 2 เรื่องเป็นเรื่องของการไม่ปล่อยสินเชื่อของแบงก์


แน่นอนว่าทั้ง 2 เรื่องโยงกลับไปที่ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลเองก็มีมาตรการแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน คือการปรับโครงสร้างหนี้ให้คนที่เป็น NPL ก็ดูเหมือนจะมาถูกทาง? รึเปล่า?


มาดูกันว่าการปรับโครงสร้างหนี้รอบนี้จะช่วยอะไรบ้าง? ช่วยให้ยอด NPL ลดลง , ทำให้แบงก์ตั้งทุนสำรองลดลง, แบงก์มีกำไรเพิ่ม แต่แบงก์จะปล่อยกู้เพิ่มมั้ย? อันนี้บอกเลยว่าไม่แน่เสมอไป


เพราะสาเหตุที่แบงก์ไม่ปล่อยกู้ คือความเสี่ยงของลูกหนี้เอง ที่มีรายได้ไม่พอจ่ายหนี้ (credit risk) แปลว่าถึงแบงก์มีเงินเพิ่ม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยกู้บ้าน กู้รถเพิ่มในปริมาณเท่ากัน เหตุการณ์คล้ายๆ กันกับการที่แม้ดอกเบี้ยลด ก็ไม่ได้หมายความว่าแบงก์จะปล่อยกู้เพิ่ม


วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ คือต้องทำให้รายได้ประชาชน รายได้ผู้ประกอบการดีขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงฝั่งลูกหนี้ จะหวังแค่ว่าให้ GDP โตอย่างเดียวไม่ได้ ประชาชนต้องมีเงินมากขึ้นด้วย


วิธีแก้ => รัฐบาลก็เลยแจกเงินหมื่นให้คนอายุเกิน 60 3 ล้านคน? แบบนี้หรอ? มันจะช่วยอะไรได้จริงๆ หรอ

2 เดือนที่รอคอย ยิ่งตามก็ยิ่งงงกับรัฐบาลนี้จริงๆ”



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/UgMyThxe66c

คุณอาจสนใจ

Related News