เลือกตั้งและการเมือง

'ศึกษิษฎ์' แจงแผนรัฐบาลฟื้นฟูการบินไทย เพื่อประสานงาน ไม่ใช่ครอบงำ

โดย nattachat_c

11 พ.ย. 2567

79 views

จากกรณีเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ศิริกัญญา ตันสกุล ได้ทวีตข้อความว่า 

"รัฐบาลวางแผนยึดการบินไทย หลังกลับมากำไรต่อเนื่อง แม้ไม่เอากลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯเพิ่ม 2 คน กุมเสียงข้างมาก ซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มสิทธิ์ ทั้ง ๆ ที่จัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า

จากที่มีความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างหนี้การบินไทยหลังจากเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ มา 3-4 ปี  ตอนนี้กำลังจะออกจากแผนแล้ว โดยเสนอแผนแปลงหนี้เป็นทุน และการลดทุน เพื่อพลิกการขาดทุนสะสมให้กำไรกลับมาเป็นบวก แผนแปลงหนี้เป็นทุนถูกยื่น filing ตลาดหลักทรัพย์เป็นที่เรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือลดทุน

โดย 8 พ.ย. นี้ เจ้าหนี้การบินไทยทั้งหลายจะต้องโหวตรับรองแผนฟื้นฟูฉบับแก้ไข เพื่อขอลดทุนเพื่อล้างหนี้สะสมซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ

แต่จู่ๆ ในแผนที่จะแก้ กลับเพิ่มเรื่องขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูอีก 2 คน รวมเป็น 5 คน 1 คนจากคลัง อีก 1 คนจากคมนาคม เพื่อกุมเสียงข้างมาก (ปัจจุบันตัวแทนจากคลังมี 1 คนคือ พรชัย ฐีระเวช ผอ.สศค.)

หลายคนอาจจะคิดว่าก็ถูกแล้ว รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็ควรมีตัวในการบริหารแผนฟื้นฟู

ผิดค่ะ! คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูเป็นตัวแทนจากฝั่งเจ้าหนี้ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น รัฐบาลให้การบินไทยกู้ 12,800 ล้านจากยอดหนี้ 129,000 ล้าน หรือ 10% เท่านั้น แต่จะขอเป็นเสียงข้างมากในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู ดูจะเอาเปรียบเจ้าหนี้รายอื่นไปหน่อย

ก่อนหน้านี้ที่เคยมีข่าวว่ารัฐบาลจะให้กู้เพิ่มตอนเข้าแผนฟื้นฟูใหม่ๆ สุดท้ายก็ไม่ได้ให้เลยซักบาท มีอย่างเดียวที่ช่วยได้จนเกิดมรรคเกิดผลคือปลดการบินไทยจากสถานะ “รัฐวิสาหกิจ” ทำให้การบริหารคล่องตัวขึ้นมาก

พอมาวันนี้ ที่การบินไทยกลับมายืนได้อีก ต้องกลืนเลือดปลดคนออกไป 50% ขายเครื่องบินและทรัพย์สิน ปฏิรูปองค์กรให้กลับมาทำกำไรได้ต่อเนื่อง รัฐบาลก็อยากมีส่วนร่วมบริหารขึ้นมาทันที

ยังไม่ต้องพูดถึงว่า หลังแปลงหนี้เป็นทุนแล้ว สัดส่วนหุ้นที่คลังถือก็จะอยู่ราว 33% เพียงเท่านี้ คลังก็ยังคงสิทธิ์ออกเสียง เลือกบอร์ด ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดแล้ว

แต่ยังไม่พอ! มีข่าวว่าคลังยังจะเอาเงินไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีกเพื่อให้ได้อำนาจควบคุมการบินไทยมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็จะซื้อไม่เกิน 50% ไม่ให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ เงินก็ไม่ค่อยจะมี จะหาเงินจากไหนไปซื้อหุ้นหลายหมื่นล้านบาทได้ คงหนีไม่พ้นเงินภาษีที่เก็บไม่ค่อยจะได้แล้วอยู่แล้วทุกวันนี้

ที่สำคัญ คนในการบินไทยเองน่าจะยังเข็ดขยาดหวาดผวากับการที่รัฐบาลเข้ามายุ่มย่ามเรื่องการจัดซื้อเครื่องบิน A340 เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ทำให้ขาดทุนยับเยินจนถึงวันนี้

ในเมื่อเงินก็ไม่ค่อยจะมี อยู่แบบนี้ก็มีอำนาจควบคุมการบินไทยเพียงพอแล้ว ก็ไม่เห็นมีความจำเป็นอะไรต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีก หรือส่งผู้บริหารแผนเข้ามาเพิ่มอีก ถ้าคนในรัฐบาลไม่ได้เล็งเป้าผลประโยชน์อื่นๆ ที่อยู่ในการบินไทย

ฝากเจ้าหนี้การบินไทยช่วยกันโหวตไม่รับผู้บริหารแผนคนใหม่ด้วยค่ะ"


ด้าน นายศึกษิษฎ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @JomSuksit ได้ทวีตในวันที่ 9 พ.ย. 67 ว่า

เรื่องตั้งประธานบอร์ดแบงค์ชาติ และเรื่องตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทยที่มีการปลุกระดมคัดค้านขณะนี้ เหมือนจะเป็นคนละเรื่อง แต่เนื้อแท้แล้วมีความคล้ายกันมากครับ

ทั้งสองตำแหน่งในแต่ละกรณี ไม่ใช่ตำแหน่งที่มีอำนาจบริหารโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นประธานบอร์ดแบงค์ชาติ หรือผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย เป็นเพียงแค่ผู้เข้าไปกำกับดูแลให้แนวทางการทำงานสอดคล้องประสานกับนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งหากทั้งแบงค์ชาติซึ่งมีความสำคัญในนโยบายการเงิน และการบินไทยที่มีความสำคัญกับนโยบายการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ ทำงานไปคนละทิศคนละทางกับรัฐบาลทุกเรื่อง หรือถึงกับคอยขัดขวางก้าวก่ายนโยบายส่งเสริมของรัฐ ความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของประชาชนก็เป็นไปได้ยาก

ก่อนรัฐบาลเพื่อไทยจะเข้ามา นโยบายการเงินของแบงค์ชาติที่ทั้งผู้ว่าการและประธานบอร์ดซึ่งก็มาจากการแต่งตั้งฝ่ายการเมืองในยุคนั้นเหมือนกัน ก็ล้มเหลวจนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นไม่หยุด กำไรธนาคารพุ่งสวนทางกับรายได้ครัวเรือนและ SMEs ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้เงินฝากสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และยังเคยออกมาตรการที่ทำร้ายผู้ประกอบการ ห้ามแบงค์ปล่อยกู้ซื้อบ้าน และมาตรการห้ามเงินเข้าออก 30% ที่ต้องยกเลิกรวดเร็วจนน่าสงสัยว่าเป็นการปั่นหุ้นทำให้นักลงทุนเสียหายขาดความมั่นใจ

ส่วนการบินไทยก็ดำเนินธุรกิจเป็นหนี้ล้นพ้นจนต้องเข้าแผนฟื้นฟู การอ้างไปถึงสมัยจัดซื้อเครื่องบิน A340 เมื่อนานมาแล้ว ทั้งที่ความล้มเหลวของการบินไทยเกิดจากเนื้อในที่ใช้คนมากกว่างาน ต้นทุนสูงเท่าฟ้า ราคาแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้ คุณภาพการบริการตกต่ำ และพนักงานสหภาพไปเป่านกหวีดปิดสนามบิน ปล่อยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อโจมตีการเมือง

และทั้งสองเรื่อง ก็ถูกเอามาปลุกระดมโจมตีรัฐบาล เพื่อหวังผลทางการเมือง โดยอ้างว่าฝ่ายการเมืองจะเข้าแทรกแซงครอบงำ ทั้งที่ควรเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายการเมืองจากการเลือกตั้งจะต้องมีบทบาทในการกำกับดูแลตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรที่ใช้ภาษีประชาชนและส่งผลต่อนโยบายรัฐ

อยากจะเข้าใจว่า ทำไมทั้งฝ่ายต้านทั้งเรื่องแบงค์ชาติ และการบินไทย ยอมให้องค์กรถูกนายทุนต่างชาติ ทุนธนาคารผูกขาด เทคโนแครตบนหอคอยงาช้าง ครอบงำแต่งตั้งได้ แต่ไม่ยอมให้นักการเมืองจากการเลือกตั้งเข้าไปกำกับดูแล


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/nSCfhAheS2c


คุณอาจสนใจ

Related News