เศรษฐกิจ

‘พาณิชย์’ เผยมาตรการอุ้มค่าครองชีพ กดเงินเฟ้อต่ำลง - หั่นเป้าเงินเฟ้อปี 66 เหลือ 1.0-1.7%

โดย nattachat_c

6 ต.ค. 2566

75 views

วานนี้ (5 ต.ค. 66) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า


ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ของไทย เดือนกันยายน 2566 เท่ากับ 108.02 เทียบกับเดือนกันยายน 2565 เท่ากับ 107.70 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวอยู่ที่ 0.30% และลดลงที่ 0.36% จากเดือนสิงหาคม 2566 ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ และกลุ่มอาหารที่ราคาลดลง ทั้ง เนื้อสัตว์ ผักสด และเครื่องประกอบอาหาร


ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และชะลอตัวจาก 0.79% ในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งชะลอตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566


ขณะที่ ดัชนีราคาผู้บริโภคไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2565 สูงขึ้น 0.52% และเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้น 0.39% สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 9 เดือน (มกราคม– กันยายน) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 1.82%


อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบเงินเฟ้อไทยกับต่างประเทศ พบว่าอัตราเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับต่ำ และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศ เช่น สปป.ลาว อยู่ที่ 25.88% ฟิลิปปินส์ 5.3% สิงคโปร์ 4% อินโดนีเซีย 3.23% เวียดนาม 2.96% และมาเลเซีย 2% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยุโรป อาทิ สหราชอาณาจักร 6.7% อิตาลี 5.44% และเยอรมนี 6.1%


นายพูนพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 ณ เดือนตุลาคม โดยเงินเฟ้ออัตราอยู่ระหว่าง 1.0–1.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 1.35%) จากเดิมอยู่ที่ระหว่าง 1.0 –2.0% (ค่ากลางอยู่ที่ 1.5%) ในเดือนกรกฎาคม 2566 ปรับกรอบตามภายใต้ปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ 2.5-3% น้ำมันดิบดูไบทั้งปีราคาอยู่ที่ 75-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีอยู่ที่ 34.5-35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง


สำหรับสาเหตุที่มีการปรับอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไตรมาสที่ 4/2566 มีแนวโน้มชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1.ราคาสินค้ากลุ่มอาหารมีแนวโน้มลดลง เช่น ราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ และเครื่องประกอบอาหาร 2.มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ส่งผลให้ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาน้ำมัน) และสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพอื่นๆ ที่มีแนวโน้มลดลง 3.มาตรการทางการเงิน โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และ 4.ฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว


อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่อาจเป็นแรงส่งให้เงินเฟ้อชะลอตัวน้อยกว่าที่คาด ประกอบด้วย 1.อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ตามภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก รวมถึงรายได้เกษตรกร และค่าจ้างเฉลี่ยที่อยู่ในระดับดี 2.สถานการณ์อุปทานพลังงานที่ยังตึงตัว จากการจำกัดการผลิตและส่งออกของผู้ผลิตน้ำมัน 3.สินค้าเกษตรในหลายประเทศได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และ 4.เงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลต่อราคาสินค้าวัตถุดิบนำเข้าและต้นทุนการผลิตสินค้า


“จากมาตรการของรัฐ และในส่วนของกรมการค้าภายในได้ร่วมกับผู้ประกอบการ 288 ราย ลดราคาสินค้าและบริการ 1 แสนกว่ารายการ ใช้เวลา 3 เดือนในไตรมาสสุดท้ายจะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับลดลง รวมกับฐานปีก่อนตัวเลขสูงทำให้แนวโน้วเงินเฟ้อลดลง”นายพูนพงษ์กล่าว


นายพูนพงษ์ กล่าวว่า จากเงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลมาจากกำลังซื้อลดลงด้วยหรือไม่นั้น จากเงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลมาจากราคาน้ำมันและมาตรการของรัฐบาลเป็นหลัก ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ได้จัดทำข้อมูลอ้างอิงรายจ่ายของประชาชนจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากเงินเฟ้อเดือนกันยายน อยู่ที่ 0.3% ส่งผลให้รายจ่ายของครัวเรือนอยู่ที่ 18,163 บาท แต่ถ้าพิจารณาส่วนของกำลังซื้อของประชาชนในส่วนของรายได้ ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5-3% ต่อเนื่องทั้งปี 2566 ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคส่งออกที่ดีขึ้นสะท้อนว่าภาคการผลิตมีการขยายตัว ทำให้มีการจ้างงานต่อเนื่อง รวมถึงอัตราการว่างงานล่าสุดอยู่ระดับ 1% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 1.3% ก็เริ่มทยอยลดลง ซึ่งดัชนีชี้ว่ารายได้ประชาชนจะเพิ่มขึ้น


“อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.3% เมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น 2.5-3% หรือราคาสินค้าเพิ่มขึ้นน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น และถ้ามีมาตรการของรัฐโดยเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เฉพาะช่วงที่มีมาตรการจะทำให้รายได้ของประชาชนในช่วงเดือนนั้นจะเพิ่มขึ้น 10.5-11% ขณะเดียวกัน ถ้าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นก็เพิ่มน้อยกว่ารายได้”นายพูนพงษ์กล่าว


นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกันยายน 2566 ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.7 จากระดับ 53.4 ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับเพิ่มขึ้นที่ 46.5 จาก 44.1 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มขึ้นที่ 61.9 จาก 59.6 เชื่อมั่นเพิ่มขึ้นใน 2 เดือนติดต่อกัน โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค 9 ด้าน เศรษฐกิจไทย 44.84% การเมือง/การเลือกตั้ง 10.81% มาตรการของภาครัฐ 14.18% ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 8.52% เศรษฐกิจโลก 6.29% สังคม/ความมั่นคง 6.37% ราคาสินค้าเกษตร 6% ภัยพิบัติ/โรคระบาด 1.29% และอื่นๆ 1.69%


ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุคาดว่ามาจากเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการวีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ตลอดจนนโยบายการดำเนินงานของรัฐบาลชุดใหม่ที่ครอบคลุมการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน รวมทั้งการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชน อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าและบริการ รวมถึงราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยทอนต่อความเชื่อมั่นของประชาชน

-------------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/9aLiyriSENs


คุณอาจสนใจ

Related News