เศรษฐกิจ

แก้ค่าแรงขั้นต่ำไม่ช่วยลดค่าครองชีพ

โดย nutda_t

28 พ.ค. 2566

924 views

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมนักศึกษาเก่าพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาให้ความเห็นผ่านบทความ ระบุดังต่อไปนี้


ค่าแรงขั้นต่ำ คือ คำตอบของการแก้ปัญหาค่าครองชีพของแรงงาน จริงหรือครับ? ผมมองว่า สาเหตุหลัก ที่เป็นต้นทุนแฝง อยู่ในค่าครองชีพของประชาชนคนไทย เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่า Wi-Fi  รวมทั้ง ค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ ของบ้านเรา หากเรามาลองวิเคราะห์ ให้ถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่า ค่าครองชีพของคนไทยที่สูงกว่าเพื่อนบ้านล้วนมีสาเหตุมาจาก


1.กลไกผูกขาด และภาครัฐ ถูกครอบงำโดยทุนใหญ่ผูกขาด ในระดับนโยบาย, ระดับ Regulator และระดับ Operator ระบบสัมปทาน คือ บ่อเกิดแห่งความไม่เป็นธรรม การขาดกลไกตลาดเสรี คือ ราคา ค่าสาธารณูปโภค ที่คนไทยต้องจ่ายแพง เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน


2.ปัญหา การทุจริตคอร์รัปชัน คือ อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ ของต้นทุนต่าง ๆ ที่ตามมาในค่าครองชีพ และค่าสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมทั้งตัวเลขของงบประมาณภาครัฐที่สูญหายไประหว่างทาง ก่อนถึงมือประชาชน ในโครงการต่าง ๆ ด้วยเหตุผล “ของฟรีไม่มีในโลก”


สาเหตุทั้ง 2 ข้อข้างต้น ล้วนยิ่งสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ ของประชาชนระหว่างคนรวยและคนจนตลอดมาของสังคมไทย ทางออกเรื่องการช่วยเหลือค่าครองชีพ ของประชาชน โดยภาครัฐ จึงควรเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ปัญหาร่วมกันดังนี้ 1.การแก้ปัญหาทุนผูกขาด 2.การแก้ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน และ 3.การผลักดัน “นโยบายรัฐสวัสดิการ” เพื่อช่วยเหลือลดค่าครองชีพประชาชนที่ลำบากในแต่ละประเภท อย่างเหมาะสม เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค , รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย , Free internet  โครงการธงฟ้า ราคาประหยัด ทั้ง อาหาร และ สินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ เหล่านี้คือสิ่งที่ภาครัฐควรผลักดันอย่างเป็นระบบและทั่วถึง


หากเราทำทั้ง 3 ข้อแล้ว ค่าครองชีพของประชาชนและแรงงานก็จะลดลง นโยบายค่าแรงขั้นต่า ก็จะไม่เป็นเครื่องมือในการหาเสียงของพรรคการเมือง อย่างที่เป็นมาในอดีต ซึ่งมีแต่จะทำลายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ SMEs ด้วยการล้มหายตายจาก และเลิกกิจการหรือ การลดจำนวนแรงงาน เพื่อลดภาระต้นทุนค่าแรง อย่างที่หลายภาคส่วนเป็นกังวล ทั้งนี้ ยังไม่รวมเงินไหลออกนอกประเทศ จากแรงงานต่างด้าว ที่ได้รับอานิสงส์ ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทย


โดยส่วนตัวผม มองว่าภาคธุรกิจ ยินดีให้ความร่วมมือ ในการจ่ายค่าแรงด้วยนโยบาย Pay by skill และตาม Productivity นั่นหมายถึงภารกิจในการ Up-skill และ Re-skill ควรเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ภาครัฐและเอกชนควรทำร่วมกันเพื่อให้แรงงานของเรามีคุณภาพตอบโจทย์ธุรกิจและได้รับค่าแรงที่เหมาะสมและเป็นธรรม อีกทั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ( Competitiveness) ก็จะดีขึ้นตามลำดับ จากบทความนี้ ผมก็ได้แต่หวังว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำคงจะเปลี่ยนไป ไม่มากก็น้อยนะครับ

คุณอาจสนใจ

Related News