เศรษฐกิจ
'ฝ่ายลูกจ้าง' เข้าใจปรับขึ้นค่าจ้าง 400 ทุกจังหวัด ทำได้ยาก - 'ฝ่ายนายจ้าง' ยันร่วมถกไตรภาคี 12 ธ.ค.นี้
โดย petchpawee_k
11 ธ.ค. 2567
26 views
ความคืบหน้ากรณี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี ส่งหนังสือเชิญกรรมการค่าจ้าง 3 ฝ่าย นัดประชุมในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาการปรับค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ ในบางอาชีพและบางกิจการ ตามนโยบายของรัฐบาลนั้น
วานนี้ (10 ธ.ค.67) นายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า พร้อมที่จะเข้าประชุมเพื่อหารือและพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั้งนี้ ฝ่ายลูกจ้างได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ในมือแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ สภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะเห็นการเปลี่ยนแปลงตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือเป็นลบ
ดังนั้น การประชุมบอร์ดค่าจ้างวันที่ 12 ธันวาคมนี้ จะต้องดูประธานบอร์ดว่าจะเปิดประเด็นใดก่อน จะพิจารณาค่าจ้างเลยหรือไม่ หรือจะมอบหมายให้กรรมการแต่ละฝ่ายนำเสนอข้อมูลที่มีอยู่ให้ที่ประชุมพิจารณา ขึ้นอยู่กับประธานบอร์ดจัดการ ขณะนี้ฝ่ายลูกจ้างยังไม่มีประเด็นอยากนำเสนออะไรเป็นพิเศษ เอาเรื่องค่าจ้าง 400 บาทให้ได้ก่อน เอาเรื่องที่เราตั้งเป้าไว้ให้จบก่อน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ไม่ค่อยดี เงินฝืดก็ฝืดมาก ค่าครองชีพหรือข้าวของตอนนี้ก็แพงขึ้นทุกวัน จะต้องมีมาตรการอื่นๆ ช่วยเหลือ และยืนยันว่าฝ่ายลูกจ้างพร้อมประชุมแน่นอน พร้อมที่จะให้ข้อมูล และพร้อมที่จะหารือ เพราะพร้อมมานานแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า คาดหวังว่าจะเห็นตัวเลข 400 บาททุกจังหวัดหรือไม่ นายวีรสุขกล่าวว่า เรื่องตัวเลขต้องรอการพิจารณาในที่ประชุมบอร์ดทั้ง 3 ฝ่าย เราเห็นด้วยที่จะต้องปรับค่าจ้าง 400 บาท ตามที่พูดกันมาเป็นปี แต่จะไปสิ้นสุดได้แค่ไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับในที่ประชุมบอร์ด
“แต่หากจะให้ขึ้น 400 บาทในทุกจังหวัด คงทำได้ยาก เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดนั้นไม่เท่ากัน ทั้งนี้ ผลการประชุมจะต้องเป็นไปตามมติของทั้ง 3 ฝ่าย โดยจะต้องนำเหตุผลในแต่ละฝ่ายมาหารือกัน” นายวีรสุขกล่าว
ขณะที่ น.ส.ศุภานัน ปลอดเหตุ กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ฝ่ายนายจ้างทั้ง 5 คน พร้อมที่จะเข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวเพื่อพิจารณาการปรับค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศในบางอาชีพและบางกิจการ
แต่สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐควรทำคือ ดูภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด ทุกวันนี้สถานการณ์เลิกจ้างแรงงานนั้นมีมาก ค่าจ้างก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวหน้า ในทางกลับกัน ก็ส่งผลกระทบต่อนายจ้างหรือสถานประกอบการ เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น นายจ้างจะต้องปรับตัว ซึ่งรัฐควรหาแนวทางเพื่อส่งเสริม หรือทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการอยู่ได้
“ส่วนใหญ่นายจ้างก็จะจ่ายค่าแรงเกินกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว ประกอบกับมีค่าแรงตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน แต่หากมีการปรับค่าจ้าง 400 บาท เข้ามา คาดว่าคนที่ได้ประโยชน์ก็คือ แรงงานข้ามชาติชัดเจน ซึ่งก็ไม่ได้นำเงินมาใช้หรือหมุนเวียนในไทย” น.ส.ศุภานันกล่าว
น.ส.ศุภานัน ยังกล่าวถึงมาตรการข้อยกเว้นสำหรับกลุ่มธุรกิจรายย่อย หรือเอสเอ็มอี หรือการประกาศปรับค่าจ้างในบางกิจการขนาดใหญ่ ไซซ์ L ที่มีลูกจ้างมากกว่า 200 คนขึ้นไปนั้น ยังไม่เห็นรายละเอียดใดๆ แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นการแบ่งแยกผู้ประกอบการและสามารถทำได้จริงหรือไม่ เพราะทุกคนก็ย่อมได้รับความเดือดร้อน ภาครัฐควรจะหาแนวทางช่วยให้ลูกจ้างและนายจ้างอยู่ได้
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/pB5L1-AelWk
แท็กที่เกี่ยวข้อง ค่าแรงขั้นต่ำ ,ค่าแรง400 ,ไตรภาคี ,ฝ่ายลูกจ้าง