เศรษฐกิจ
SME ร้องรัฐให้เงินอุดหนุน หลังขึ้นค่าแรง 400 – หอการค้าคาดดัน GDP เพิ่ม 0.2% ของแพงขึ้น 2.5-5%
โดย thichaphat_d
25 ธ.ค. 2567
40 views
เมื่อวานนี้ (24 ธ.ค.) นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด 400 บาทใน 4 จังหวัดและ 1 อำเภอ ชัดเจนว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักทั้งภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนอย่าง EEC ซึ่งมีเม็ดเงินสะพัด มีการจ้างงานมาก ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ก็จะได้ค่าจ้างเกินกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว การปรับขึ้นในลักษณะนี้มองว่าจะช่วยลดผลกระทบในแง่ค่าครองชีพที่ไม่สอดคล้องกับรายได้ในช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันในส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย ซึ่งมีอยู่ราว 2.7 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 85% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ แม้ว่าแต่ละธุรกิจจะจ้างคนงานไม่มากนัก แต่ด้วยขีดความสามารถที่ยังไม่ฟื้น การปรับขึ้นค่าแรงก็ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการควบคู่
โดยให้กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพ เช่น สำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีบริษัทที่ขึ้นทะเบียนในระบบ 4.8 แสนราย และมีแรงงานตามมาตรา 33 ที่อยู่ในระบบ จับมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดโครงการยกทักษะแรงงาน การสนับสนุนงบประมาณ นำโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์บริหารสต๊อกคงคลังมาช่วยผู้ประกอบการโดยติดตั้งพร้อมอบรมให้ฟรี โดยรัฐให้เงินอุดหนุน เป็นต้น จากนั้น จึงขยายไปสู่การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ที่อยู่ในมาตรา 40 เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซียและสิงคโปร์ ซึ่งรัฐจัดตั้งกองทุนและมีเงินอุดหนุนให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ
ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่สูงสุด 400 บาท และต่ำสุด 337 บาท ซึ่งมีผล 1 มกราคมปี 2568 นั้น หากประเมินว่าขึ้นเฉลี่ย 3% หรือเฉลี่ยค่าจ้างอยู่ที่ 360 บาทต่อวัน นั่นหมายถึงรายได้แรงงานเพิ่มขึ้นจากเดิม 10 บาทต่อวัน หรือตก 36,000 ล้านบาทต่อปี คาดว่าจะดันจีดีพีเพิ่มขึ้น 0.2%
ในด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ พบว่าโดยเฉลี่ยต้นทุนด้านแรงงานคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของต้นทุนทั้งหมดของอุตสาหกรรม ดังนั้นมองว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 3% ผู้ผลิตยังสามารถแบกรับต้นทุนการผลิตได้ จากที่เคยทำโพลล์ว่าหากขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ จะส่งผลต่อการปรับขึ้นราคาสินค้า 10-20% ดังนั้นการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ จะผลักไปที่ราคาสินค้าไม่มากนัก โดยคาดว่าเพิ่มขึ้น 2.5 ถึง 5% และจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นอีก 0.1 ถึง 0.2% แต่ก็จะยังทำให้อัตราเงินเฟ้อปีหน้าอยู่ในกรอบคาดการณ์ที่ 1.2-1.5% ประชาชนไม่เดือดร้อนมาก การขึ้นค่าแรงลักษณะนี้จะส่งผลให้แรงงานมีรายได้มากขึ้นและมีประโยชน์ในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม หากค่าจ้างขึ้นแรงและเร็ว นายจ้างจะกังวลใน 3 เรื่อง ได้แก่ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น การกระตุ้นให้ Ai และเทคโนโลยีจะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเร็วขึ้น และเสน่ห์ของการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไทยในด้านค่าแรงก็จะขาดหายไป เพราะค่าแรงของไทยสูง ซึ่งตอนนี้ทุกคนมองไปที่เป้าค่าแรง 600บาทแล้วตามนโยบาย
รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/gatoGGf_5Tk