เศรษฐกิจ

'พิธา' นั่งวินหารือสภาอุตฯ ถกขึ้นค่าแรง 450 บาท แต่จะไม่กระชากระบบ น้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย

โดย nattachat_c

24 พ.ค. 2566

129 views

'พิธา' นำทีมหารือ สภาอุตฯ รับฟังข้อเสนอภาคเอกชน-ชี้แจงนโยบายเศรษฐกิจ รับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจกระชากระบบเศรษฐกิจบ้าง แต่ไม่ใช่ครั้งแรก เคยเกิดสมัยยิ่งลักษณ์มาแล้ว กรรมการเปลี่ยนผ่านอำนาจฯ กำลังศึกษาแพ็คเกจสมัยปี 2556 ก่อนแจกแจงรายละเอียดการช่วยเหลือแรงงาน-ภาคอุตสาหกรรมควบคู่กัน และขีดความสามารถในการแข่งขัน


วานนี้ (23 พ.ค. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทีมพรรคก้าวไกล เข้าหารือกับ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมผู้บริหาร ส.อ.ท. โดยนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้ามาที่ทำการ ส.อ.ท.


พร้อมตอบคำถามสื่อก่อนเข้าห้องประชุม กรณีความกังวลต่อการออกเสียงสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีของ สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.ว่า

ดูท่าทีวันนี้ยังไม่มีปัญหา เป็นเรื่องของระบบ มากกว่าเรื่องของตัวบุคคล จึงต้องประคับประคองเพื่อหาทางออก ซึ่งที่ผ่านมาได้พูดคุยไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่เปิดเผย ส่วน ส.ว.ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ แกนนำพรรคการก้าวไกลและพรรคร่วม พยามเจรจาพูดคุยกันอยู่


สำหรับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 450 บาท นั้น

นายพิธา บอกว่า บางเรื่องที่ต้องรวดเร็วก็ต้องรวดเร็ว บางเรื่องที่ต้องรอบคอบก็ต้องรอบคอบ สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แรก ที่มีคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านอำนาจของประชาชน จึงต้องมาคุยกับ ส.อ.ท. และ กกร.เพื่อรับฟังเสียงภาคเอกชน ทั้งเรื่องของแรงงาน เอสเอ็มอี โดยพรรคจะพิจารณาให้รอบด้านภายในสัปดาห์นี้ และจะนำไปคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทยเองก็เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง


แต่ในเรื่องของตัวเลขอัตราค่าจ้างนั้นก็เข้าใจว่า การขึ้นค่าแรงในลักษณะนี้ อาจจะกระชากระบบเศรษฐกิจไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกเพราะเคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์มาแล้ว


โดยคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านอำนาจของประชาชน กำลังศึกษาแพ็คเกจการขึ้นค่าแรงสมัยปี 2556 และจะมาแจกแจงรายละเอียดเรื่องการช่วยเหลือแรงงาน และภาคอุตสาหกรรมควบคู่เพิ่มเติม พร้อมพิจารณาเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย


ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชน ให้คิดค่าจ้างโดยยึดแบบ pay by skill หรือจ่ายตามทักษะของแรงงานนั้น ก็สอดคล้องกับหลักการของพรรคก้าวไกลเองเช่นกัน


ส่วนกรณีที่เอกชนอยากให้เร่งจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จก่อนเดือนสิงหาคมนั้น เรื่องนี้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และต้องรอ กกต.รับรอง ถ้ารับรองเร็ว กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว


นายพิธา ได้กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องค่าแรง ได้คุยกันในภาพรวม เรื่องการขาดแคลนแรง มีเรื่องที่มีเรื่องไม่สอดคล้องในอุตสาหกรรม คือ พบว่าอุตสาหกรรมต้องการคนมาทำงาน แต่หาคนไม่ได้ ขณะเดียวกันพบว่ามีคนเรียนจบมาแต่ไม่มีงานทำ ด้วยนิยามคำว่า 'อัตราการว่าง' ที่ไม่ตรงกัน


รวมถึงทักษะของแรงงาน การพูดถึงค่าแรงที่เหมาะสม ทางพรรคได้อธิบาย ให้ ส.อ.ท.สบายใจว่า ไม่ได้มองเหรียญเพียงด้านเดียว เพราะต้องมีการช่วยผู้ประกอบการด้วย เช่น การลดภาษีให้ธุรกิจเอสเอ็มอี การให้ธุรกิจหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า นาน 2 ปี และมาตรการที่สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เคยทำ คือ เพิ่มสภาพคล่องให้เอกชน


ส่วนกรอบตัวเลขนั้น พรรคก้าวไกลยังคงไว้ที่ 450 บาท และต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีกรอบตัวเลขที่ต่างกัน รวมถึงหารือสภาแรงงาน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยืนยันจะไม่ปรับขึ้นแบบกระชากระบบ โดยเห็นตรงกันว่า ต้องขึ้นตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ประสิทธิภาพของแรงงาน


ทั้งนี้ ในช่วง 8-9 ปี พบว่า การปรับขึ้นค่าแรงขึ้น 1% จีดีพีโตได้ 2% ประสิทธิภาพแรงงานขึ้น 3% จึงไม่อยากเห็นตัวเลขแบบนั้นอีก ทั้งนี้ จะใช้กลไก คณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีในการพิจารณา แต่ต้องภายหลังการจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรแล้วเสร็จ และได้เข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล


สำหรับค่าไฟที่ ส.อ.ท.เคยเสนอมาว่า ไม่ควรเกิน 4.72 บาทต่อหน่วย นั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ ดูจากแนวโน้มราคาพลังงาน ก๊าซธรรมชาติ และทิศทางการเปลี่ยนสูตรโครงสร้างราคาใหม่ หลังจากนี้จะไปหารือกับหอการค้าไทย เพื่อรับฟังความเห็นเช่นกัน


ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. เพิ่มเติมว่า

ได้ขอให้รัฐบาลกิโยตินกฎหมายที่ล้าสมัย ทำกฎหมายใหม่ให้อุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น ต่อไปจะมีคณะทำงานร่วมกันระหว่าง ส.อ.ท. กับรัฐบาลแยกรายกลุ่มอุตสาหกรรม เสริมกับการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ. ซึ่งเป็นภาพใหญ่ ยอมรับว่าที่เคยกังวลกับนโยบายการขึ้นค่าแรงของพรรคร่วมรัฐบาล ก็เบาใจลง เพราะนายพิธาก็รับฟังและจะนำไปหารือ เพราะนายพิธาเองก็เคยเป็นสมาชิกส.อ.ท. จึงเข้าใจผู้ประกอบการเป็นอย่างดี

-------------















รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/YHBah3TCGkw

คุณอาจสนใจ

Related News