เศรษฐกิจ

เงินเฟ้อไทยเดือนแรกของปี ชะลอตัวต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

โดย paranee_s

6 ก.พ. 2566

49 views

วันนี้ (6 ก.พ.) นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 108.18 สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.02% แต่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า (ธันวาคม 65) ที่สูงขึ้น 5.89% มาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและอาหาร


โดยสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 3.18% และหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 7.70% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก จะสูงขึ้น 3.04% ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว เทศกาลปีใหม่และตรุษจีน ส่งผลให้การใช้จ่ายคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา


โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา , สหราชอาณาจักร , อิตาลี และ เม็กซิโก รวมถึงประเทศในอาเซียน เช่น ลาว , ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ โดยเงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 32 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ส่วนอัตราเงินเฟ้อไทยทั้งปี 65 เฉลี่ยสูงขึ้น 6.08% ต่ำเป็นอันดับที่ 33 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลขเช่นกัน


ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง โดยมีปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อขยายตัว ยังคงเป็นราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า และ ก๊าซหุงต้ม รวมไปถึงสินค้าในกลุ่มอาหารที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต ประกอบกับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐ


แต่ทั้งนี้เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว จะส่งผลต่อความต้องการบริโภคโดยรวมและราคาน้ำมันชะลอตัว เงินบาทแข็งค่าจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของไทยลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันเงินเฟ้อไทยไม่ให้สูงมากนัก


ขณะที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 จะอยู่ระหว่าง 2.0-3.0% สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย


สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมกราคม 2566 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.3 จากระดับ 50.4 ในเดือนก่อนหน้า อยู่ในช่วงความเชื่อมั่นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 44 เดือน เป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต


โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ในระดับที่มีความเชื่อมั่น คือยังสูงกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภายในประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ และการเปิดประเทศของจีน ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมถึงราคาสินค้าเกษตรสำคัญอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจสูงขึ้น


ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัวลง จะเป็นปัจจัย สำคัญทาให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

คุณอาจสนใจ

Related News