เศรษฐกิจ

แบงก์กรุงเทพนำร่อง ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ หลังมติ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.00%

โดย nattachat_c

29 ก.ย. 2565

22 views

วานนี้ (28 ก.ย.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 1 ต่อปี โดยให้มีผลทันที


โดย กนง.ยังคงความเห็นให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แบบค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากภาคท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน โดย กนง.คงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 3.3 และ 3.8 ในปี 66 ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงกว่าคาด ส่งผลต่อภาคการส่งออก แต่ไม่ได้กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

-------------

วานนี้ (28 ก.ย. 65) นางรัชนี นพเมือง รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพิ่มขึ้น

  • อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ปรับเพิ่มขึ้น 0.15 - 0.50% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) เพิ่มขึ้น 0.40% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) เพิ่มขึ้น 0.375% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) เพิ่มขึ้น 0.30% ต่อปี

-------------

วานนี้ (28 ก.ย. 65) นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า


สัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ดังกล่าว ผนวกกับนโยบายการปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ กลับมาที่ร้อยละ 0.46 ตั้งแต่ต้นปี 2566 นั้น คงทำให้ธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้มาตรฐานตาม แต่ประเด็นเรื่องคุณภาพหนี้และการช่วยเหลือลูกค้า ก็ยังต้องจับตามองอย่างต่อเนื่อง ต้องมีนโยบายรองรับสำหรับกลุ่มเปราะบาง

-------------

วานนี้ (28 ก.ย. 65) นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ว่า ธอส. จะตรึงอัตราดอกเบี้ยบ้านไปจนถึงสิ้นปี 65 เพื่อแบ่งเบาภาระและให้เวลาลูกค้าในการปรับตัว

-------------

วานนี้ (28 ก.ย. 65) นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ


ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูง จากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แม้แรงกดดันด้านอุปทานจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มคลี่คลาย ในภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า คณะกรรมการฯเห็นว่า การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม


โดย กนง.คงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 3.3 และ 3.8 ในปี 66 เท่ากับที่คาดการณ์ครั้งก่อนหน้า โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความทั่วถึงมากขึ้น ทั้งในมิติของสาขาธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการและในมิติของรายได้ที่เริ่มกระจายตัวดีขึ้น


อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.3 และ 2.6 ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาน้ำมันโลกและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.6 และ 2.4 ตามลำดับ


ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว


และในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการฯ พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป


เงินเฟ้อระยะปานกลางที่สูงขึ้นบ้าง เนื่องจากเกิดจากต่างประเทศ ในด้านราคาสินค้า เนื่องจากประเทศไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่อื่น และยังไม่กลับไปช่วงก่อนโควิด


การขึ้นค่าแรงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าที่อื่น เพราะเรามีแรงงานที่รับค่าแรงในระบบเพียง 44%

-------------

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ปรับอ่อนค่าเร็วและต่อเนื่องตามการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค และการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมายังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในภาพรวม 


อีกทั้งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น 18% เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ซึ่งค่าเงินบาทอ่อนลงที่ 12.1% เป็นระดับปานกลางเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เกาหลี อ่อนค่า 16.4% ไต้หวัน 12.6% ฟิลิปปินส์ 13.6% เป็นต้น


อีกทั้งเมื่อเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่า ผลกระทบต่อไทยมีอย่างจำกัด ซึ่งความกังวลเรื่องเงินไหลออกประเทศก็มีความเสี่ยง แต่ข้อมูลตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิยังเป็นบวก โดยยังไม่ได้รับผลกระทบจากเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งเงินทุนสุทธิยังอยู่ระดับ 4,474 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะตลาดหุ้นยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเสถียรภาพทางการเงินไทยยังแข็งแกร่ง เนื่องจากเงินทุนสำรองของไทยที่มีอยู่เมื่อเทียบกับจีดีพีของโลก ไทยอยู่ลำดับที่ 6 ของโลกซึ่งสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างประเทศ

--------------

เมื่อวานนี้ (28 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เงินบาทอ่อนค่าทันที 0.43% ไปแตะที่ 38.31 บาทต่อดอลลาร์ หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% จากช่วงเช้าที่อยู่ที่ระดับ 38.15 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอ่อนคายาวถึงสิ้นปี

------------



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/bT7r8mShe1Q








คุณอาจสนใจ