เศรษฐกิจ

สภาพัฒน์เผย GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 2.3% ต่ำสุดในอาเซียน แนะ รบ.หามาตรการนอกเหนือ 'เงินดิจิทัล'

โดย nattachat_c

20 ส.ค. 2567

166 views

วานนี้ (19 ส.ค. 67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ปีนี้ ขยายตัวได้ 2.3% จาก 1.6% ในไตรมาสที่ 1 ซึ่งสูงกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์ไว้ โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคเอกชน ที่ขยายตัว 4% การบริโภคภาครัฐบาลขยายตัว 0.3% การส่งออกที่ในไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 1.9% และภาคบริการ 19.8%


การเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐเป็นไปไม่ตามเป้าหมาย แต่การลงทุนรวมยังหดตัวแรง 6.2% จากกำลังซื้อหดตัว ภาคอสังหาฯ ลงทุนลดลง ถึง 50% อย่างไรก็ดี สภาพัฒน์ ยังมั่นใจทั้งปี จีดีพีโตที่ 2.5% แต่ปรับค่าคาดการณ์ให้แคบลง จาก 2 - 3% เป็น 2.3 - 2.8% จากแรงหนุนการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องการอุปโภคบริโภคในประเทศ การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกที่เริ่มกลับมาขยายตัว


อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2 ที่โต 2.3% หากเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียน ไทยโตต่ำที่สุด โดยประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตได้มากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน คือ เวียดนาม โต 6.9% ฟิลิปินส์ 6.3% มาเลเซีย 5.9% อินโดนีเซีย 5% และสิงคโปร์ 2.9%


นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.3% เมื่อดูไส้ในกลับพบความน่าเป็นห่วงจากการลงทุนรวม ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลงถึง 6.8% สะท้อนถึงเอกชนขาดความเชื่อมั่นในการที่จะลงทุนเพิ่ม


และช่วงที่ผ่านมา การค้าขายเป็นการเร่งระบายสต๊อก ไม่ใช่การผลิตใหม่ แม้แต่ภาคการท่องเที่ยว แม้ตัวเลขจะดูสวยงาม แต่หากเทียบรายไตรมาส กลับพบว่าชะลอลง ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่การใช้จ่ายต่อหัวลดลง ซึ่งเป็นโจทย์รัฐบาลใหม่ ต้องหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นเพิ่ม


สภาพัฒน์ คาดการณ์ว่า การลงทุนทั้งปี 2567 ภาคเอกชน คาด +0.3% จากเดิมที่คาดว่า +3.2% ส่วนภาครัฐ -0.7%

-------------
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.เตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลก


โดยระยะต่อไป เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนจากภาวะภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่มีความขัดแย้งกันมากขึ้น เช่น ตะวันออกกลาง


นอกจากนี้ สถานการณ์หลังการเลือกตั้งสหรัฐมีแนวโน้มที่จะเกิดการกีดกันทางการค้าจนเป็นสงครามการค้ารอบใหม่


มาตรการที่จะออกมาคงต้องดูเครื่องไม้เครื่องมือว่าจะใช้มาตรการในลักษณะใด และต้องดูช่วงเวลา โดยอาจมีมาตรการออกมาในช่วงแรกแล้วประเมินสถานการณ์ รวมทั้งผลกระทบจากภายนอกก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ทรัพยากรงบประมาณมีจำกัด และพื้นที่การคลังก็เหลือแค่ 6.5% เท่านั้น เพราะหนี้สาธารณะตอนนี้อยู่ที่ 63.5% แล้ว


รวมทั้งต้องดูช่วงเวลาและปริมาณที่เหมาะสมด้วย เพราะหากจะทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนก็ต้องมีการเตรียมพร้อมว่าจะทำโครงการอะไรบ้าง เพื่อให้เม็ดเงินสามารถออกไปได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ต้องมีการหารือกับรัฐบาล และ ครม.ชุดใหม่ รวมทั้งกระทรวงการคลัง และ ธปท.ด้วย


สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปีหรือไม่ว่า ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลใหม่ เพราะเมื่อพิจารณาวงเงินของโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยเฉพาะงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาแล้วต้องอยู่ที่รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร


ทั้งนี้ หากรัฐบาลเห็นว่าดิจิทัลวอลเล็ตจะไม่ทำต่อไป ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นก็คงต้องดูมาตรการอื่นเข้ามาเติม เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ก็คงต้องพูดคุยหัน และดูว่านายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจะมีความเห็นว่าอย่างไร แต่ส่วนตัวคิดว่า คงมีมาตรการอะไรออกมาสักอย่าง เพื่อช่วยประชาชนในช่วงนี้

--------------------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/xPjfxUbr35c



คุณอาจสนใจ

Related News