เศรษฐกิจ

ส่องเศรษฐกิจยุคของปรับขึ้นราคา พ่อค้า-แม่ค้าจะไปต่อหรือพอแค่นี้?

โดย taweelap_b

25 มิ.ย. 2565

86 views

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ที่ร้านขายน้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ บ้านโคก ต.หนองเสม็ด อ.เมือง จ.ตราด ซึ่งเป็นร้านของ นายพุฒิพงศ์ วิจิตร วัย 49 ปี และภรรยา เปิดร้านขายปาท่องโก๋มานานถึง 12 ปี เริ่มแบกภาระต้นทุนข้าวของที่ปรับราคาขึ้นเท่าตัว


นายพุฒิพงศ์ เปิดเผยว่า ร้านของตนเปิดขายน้ำเต้าหู้ และปาท่องโก๋มานาน หลังเจอพิษโควิด-19 ก็ยังพอขายได้ เนื่องจากขายอยู่กับบ้านเอง ไม่ต้องเสียค่าเช่า แต่ลูกค้าลดลงบ้างเล็กน้อย แต่มาปี 65 หนักยิ่งกว่าโควิด-19 อีก ก็จะเห็นได้ชัดเจนคือ วัตถุดิบอย่างเช่นน้ำมันพืช ที่ต้องนำมาทอดปาท่องโก๋ เมื่อก่อนลิตรละ 30 กว่าบาท แต่มาปีนี้ปรับราคาขึ้น 70 กว่าบาท ซึ่งร้านต้องใช้น้ำมันพืชสดใหม่ทุกวัน ตกวันละ 4-5 ลิตร ส่วนแก๊สหุงต้มก็ปรับราคาเช่นเดียวกันใช้เท่าเดิม แต่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น


ทั้งนี้ ตนต้องแบกภาระต้นทุน ปาท่องโก๋เคยขาย 4 ตัว 5 บาท ก็ต้องลดลงมาขาย 3 ตัว 5 บาท ซึ่งลูกค้าก็เข้าใจเนื่องจากของขึ้นทุกอย่าง แม้กระทั่งแป้งมัน ที่นำมาทำปาท่องโก๋ ปีนี้หนักมาก จะไปต่อหรือพอแค่นี้ ก็ต้องขอสู้อีกพัก นอกจากนี้ หลังจากเจอพิษโควิด-19 ก่อนหน้านี้ได้นำหมูย่างมาขายเป็นรายได้เสริม หมูกลับปรับราคาขึ้น ก็ต้องทนสู้ขายไป แม้ว่ายอดขายจะเหมือนเดิม แต่กำไรก็ได้น้อยลงกว่าเก่า


ขณะที่ จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจราคาขายข้าวสารที่ร้านอำนวยค้าขาว ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งเป็นร้านขายข้าวสารที่มีประชาชนมาซื้อข้าวสารอย่างไม่ขาดสาย โดยที่ทางร้านติดป้ายราคาขายไว้ที่กระสอบข้าวแต่ละชนิดอย่างชัดเจน


นางอำนวย มาซา อายุ 60 ปี เจ้าของร้าน กล่าวว่า ที่ร้านไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ค้าข้าว แต่ก็พอจะรู้ว่าการขึ้นราคาข้าสารนั้นมาจากสาเหตุใดบ้าง อาจเป็นเพราะน้ำมันขึ้นราคา ก็มีส่วนที่ทำให้ข้าวสารปรับราคาขึ้น เพราะน้ำมันแพงค่าขนส่งก็แพงขึ้น อีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ผู้ค้าข้าว ส่งออกข้าวหอมมะลิได้มากขึ้น เพราะเท่าที่ทราบต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศยูเครนที่มีผลกระทบจากสงคราม ได้สั่งซื้อข้าวจากประเทศไทยจำนวนมาก


“วันนี้เงียบ ไม่ได้ขายดีเหมือนเมื่อก่อน ตามเศรษฐกิจปัจจุบัน เพราะลูกค้าที่มาซื้อข้าวบางส่วนซื้อไปไว้ใช้ในครัวเรือน บางส่วนซื้อไปขายต่อ แต่ช่วงนี้การค้าขายยังไม่ดีคนซื้อน้อยลงเงียบกว่าเดิมเยอะ ราคาข้าวช่วงนี้มีการปรับราคาขึ้น เพราะโรงสีแจ้งมา โดยก่อนเดือนพ.ค. ข้าวสารกระสอบ 45 กิโลกรัม กระสอบละ 1,250 บาท ปรับขึ้นมาเป็น กระสอบละ 1,350 บาท แต่ลูกค้าที่เคยมาซื้อก็กลับมาซื้อเหมือนเดิม สาเหตุที่ปรับราคาขึ้นเพราะโรงสีปรับขึ้น เนื่องจากส่งออกต่างประเทศได้เยอะ และราคาน้ำมันที่แพงขึ้นมีส่วนอย่างมาก เพราะค่าขนส่งปรับอย่างอื่นก็ต้องปรับราคาขึ้นตามกลไกการตลาด พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปซื้อน้อยลง จากเดิมเคยซื้อเป็นกระสอบ”


นายประชารัฐ เหง้าจำปา อายุ 58 ปี ลูกค้าที่มาซื้อข้าวสารที่ร้านดังกล่าว ระบุว่า ส่วนตัวไม่เดือดร้อน เพราะอยู่ตัวคนเดียว ส่วนครอบครัวอยู่ที่ต่างจังหวัดมีที่นา ก็ทำนา มีข้าวกิน จึงไม่เดือดร้อน เพราะเข้าใจกลไกของตลาด แต่รัฐบาลก็ควรออกมาบริหารจัดการ เพื่อลดความเดือดร้อนให้ประชาชนผู้ที่ยากจนและมีรายได้น้อย


ด้านลูกค้าอีกคนที่มาซื้อข้าวสาร เปิดเผยว่า ถ้าถามว่ากระทบไหม "มันก็เป็นของที่ต้องซื้อ จะถูกจะแพงก็ต้องซื้อกินทุกวัน"


ในพื้นที่จ.ตรัง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุเชฏฐ์ จันผุด อายุ 56 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ต.ห้วยนาง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งประกอบอาชีพเผาถ่านขายมานานกว่า 3 ปีแล้ว กล่าวว่า ตนมีเตาเผาถ่านทั้งหมด 4 เตา ปกติจะผลิตส่งไปขายยุ้งในกรุงเทพฯ เดือนละประมาณ 300 กระสอบ แต่ขณะนี้ลดกำลังการผลิตลง เหลือประมาณเดือนละ 100 กระสอบเท่านั้น เนื่องจากปีกไม้ยางพาราปรับราคาสูงขึ้นมาก ประกอบกับน้ำมันสำหรับเลื่อยไม้ ก็มีราคาแพง ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แม้ความต้องการใช้ถ่านของประชาชนในขณะนี้จะเพิ่มสูงขึ้นมากทั่วประเทศ เพราะหลายคนต้องการประหยัดค่าแก๊สหุงต้ม หลังจากที่ปรับราคาสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แล้วหันมาใช้เตาอั้งโล่ และวิธีการอื่น ๆ ในการปรุงอาหารแทน


ขณะเดียวกัน ล่าสุดถ่านไม้ก็มีการปรับราคาขายเพิ่มขึ้นแล้วเช่นกัน จากเดิมกระสอบละ 380 บาท เป็นกระสอบละ 400 บาท หรือเพิ่มขึ้นกระสอบละ 20 บาท แต่อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่ปีกไม้ยางพารา มีการปรับราคาสูงขึ้นเป็นตันละกว่า 1,000 บาท และราคาก็ยังมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา และไม้ 1 ตัน จะผลิตถ่านไม้ได้ประมาณ 3 กระสอบเท่านั้น แถมยังต้องจ่ายค่าแรงให้คนงานอีกกระสอบละ 75 บาทด้วย จึงทำให้การเผาถ่านขายไม่คุ้มทุน อีกทั้งในการส่งไปขายที่กรุงเทพฯ แต่ละครั้งจะต้องมีปริมาณอย่างน้อย 300 กระสอบขึ้นไป เพื่อให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าน้ำมันที่ยังคงมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ดังนั้น เมื่อรายได้ไม่คุ้มทุน ตนจึงจำต้องหยุดการส่งถ่านไม้ไปยังกรุงเทพฯ และต้องลดการผลิตถ่านไม้ลงเหลือแค่เดือนละ 100 กระสอบ แล้วเอาในส่วนนี้มาแบ่งขายปลีกในจังหวัด และใกล้เคียงแทน เพราะความต้องการใช้ถ่านไม้ของประชาชนในพื้นที่ก็มีมากเช่นเดียวกัน โดยใช้วิธีการแบ่งขายถ่านไม้เป็นกระสอบ ๆ ละประมาณ 10 กิโลกรัมเศษ ขายในราคากระสอบละ 140 บาท และยังจัดถ่านไม้ใส่ถุงส่งขายปลีก ตามร้านค้า และหน้าบ้าน ในราคาถุงละ 30 บาท เพื่อให้ประชาชนได้ใช้กัน เป็นการส่งเสริมการประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ในยุคที่ราคาพลังงานทุกอย่างพุ่งสูงขึ้นรายวันเช่นนี้ ส่วนเศษถ่านไม้ จะเอาไปส่งขายให้กับโรงงานผลิตถ่านอัดแท่ง ในราคากระสอบละ 20 บาท

คุณอาจสนใจ

Related News