เศรษฐกิจ

'สรยุทธ' รีวิว 'เตามหาเศรษฐี' แม่ค้าเมินใช้ โวยกว่าจะจุดไฟติด-คุมความร้อนไม่ได้

โดย nattachat_c

22 มิ.ย. 2565

3.8K views

เพจเฟซบุ๊ก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ภาพ พร้อมระบุข้อความว่า


"#รวมพลังคนไทยลดใช้พลังงานหาร2 เตามหาเศรษฐี ร้อนสูง ประหยัดถ่าน ทนทาน ช่วยประหยัดเงิน โดย พพ. ขอนำเสนอเตาหุงต้มประสิทธิภาพสูง” หรือ “เตาซูเปอร์อั้งโล่” เป็นเตาที่พัฒนาขึ้นมาทดแทนเตาอั้งโล่ตามท้องตลาดทั่วไป

ซึ่งมีประสิทธิภาพเชิงความร้อนมากกว่าเตาอั้งโล่ตามท้องตลาดถึง 29% ถ้าหากตามบ้านเรือนหันมาใช้เตามหาเศรษฐีจะสามารถประหยัดไม้ ฟืนและถ่านที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ถึง 500-600 บาท/ครัวเรือน/ปี (ถ้าจำนวน 530,000 ครัวเรือน จะประหยัดถ่านได้ประมาณ 16.4 กิโลกรัม/ปี หรือคิดเป็นเงิน 318 ล้านบาท) และช่วยลดการใช้แก๊ส LPG ในครัวเรือน

คุณสมบัติเด่น ๆ ของเตามหาเศรษฐี

  • มีลักษณะเพรียวและน้ำหนักเบากว่า
  • ให้ความร้อนสูง อุณหภูมิกลางเตาประมาณ 1,000 -1,200 องศาเซลเซียส
  • ประหยัดถ่านและพลังกว่าเตาอั้งโล่ท้องตลาด 30-40 %
  • วางภาชนะหุงต้ม (หม้อ) ได้ 9 ขนาด ตั้งแต่เบอร์ 16-32
  • ขณะหุงต้มไม่มีควันและก๊าซพิษเกิดขึ้นเนื่องจากเผาไหม้สมบูรณ์
  • อายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 2 ปี"



ทีมข่าวไปพูดคุยกับ นางสาวเฉลยวิทย์  ชัยจักร นักวิชาการพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกระทรวงพลังงาน เผยว่า เตามหาเศรษฐีจะใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงซึ่งเป็นถ่านทั่วไป มีการหุ้มฉนวนความร้อน ทำให้ความร้อนในเตาอยู่ได้นานขึ้น และประหยัดถ่าน


การออกแบบของรูรังผึ้งเตามหาเศรษฐีจะมีความหนา รูเล็ก ทนทานกว่าเตาอั้งโล่ตามท้องตลาดทั่วไป ถ่านหมดช้าลง ลมที่ผ่านหน้าเตาเข้ามาบนเตาผ่านได้เร็วขึ้น ทำให้ไฟติดง่าย ถ้าเป็นเตาอั้งโล่ทั่วไป จะใช้พัดเพื่อเพิ่มความร้อนให้ไฟติดเร็วขึ้น แต่เตามหาเศรษฐีไม่ต้องใช้พัด


ถามว่าทำไมกระทรวงพลังถึงส่งเสริมให้ประชาชนใช้เตามหาเศรษฐี นางสาวเฉลยวิทย์ กล่าวว่า ตอนนี้ราคาพลังงานสูงขึ้นทั้งน้ำมัน, แก๊ส LPG, ถ่านที่นำมาเป็นเชื้อเพลิงที่ขณะนี้ราคาเพิ่มขึ้นเป็นกิโลละ 3 บาท ส่งผลกระทบต่อประชาชน


จึงอยากส่งเสริมให้ใช้เตาอั้งโล่ประสิทธิภาพสูง ช่วยลดการใช้พลังงานที่เลือกใช้ เช่น ถ้าใช้ถ่านก็จะประหยัดลง ยืนยันสามารถประหยัดพลังงานได้จริง ปัจจุบันมีผู้ผลิตเตาดังกล่าวซึ่งเป็นร้านค้าและโรงงานทุกประเทศรวม 8 แห่ง ทางกระทรวงฯ รณรงค์มาเป็นระยะ


ส่วนที่ระบุว่าหุงต้มไม่มีควันและก๊าซพิษ  นางสาวเฉลยวิทย์ อธิบายว่าเวลาจุดเชื้อเพลิงจะมีควันตอนเริ่มต้น เมื่อเผาไหม้สมบูรณ์แล้วจะไม่มีควันเพราะถ่านติดไฟแล้ว ทั้งนี้บ้านที่อยู่ในเมืองหรือคอนโดฯ ไม่แนะนำให้ใช้ต้องดูสถานที่ด้วย อย่างเช่น ร้านหมูกะทะ ถ้าเลือกใช้เตามหาเศรษฐีประสิทธิภาพสูงแทนเตาอั้งโล่ตามท้องตลาดทั่วไป ก็จะช่วยประหยัดถ่านมากขึ้น ทั้งนี้หลังเป็นข่าวมีประชาชนทั่วประเทศกว่า 300 ราย ที่ติดต่อมาสอบถามเรื่อง “เตามหาเศรษฐี”


เมื่อถามว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นกันถล่มทลาย ส่วนใหญ่จะออกมาทางลบ นางสาวเฉลยวิทย์ กล่าวว่า  “ถ้ามองในภาพรวมถ้าในแต่ละบ้านที่ใช้แก๊ส LPG  ก็จะมีเสียงบ่นเรื่องการใช้พลังงานนำเข้าจากต่างประเทศ ทำไมประเทศไทยไม่กลั่นน้ำมันเองเพราะน้ำมันแพง ถ่านเป็นทางเลือกที่ประชาชนสามารถเลือกได้ ก็ควรจะเลือกนำไปลองใช้ดู น่าจะเป็นการประหยัดพลังงานสำหรับตัวเรา”


อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  ไม่ได้แนะนำเฉพาะ เตามหาเศรษฐี เท่านั้น ยังมีเตาอื่นๆ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ช่วยประหยัดพลังได้ด้วย เช่น


  • หม้อก๋วยเตี๋ยว ซึ่งทางกรมฯ ได้พัฒนาฉนวนหุ้มหม้อต้มก๋วยเตี๋ยว เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนด้านข้างและด้านล่าง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานและประหยัดเชื้อเพลิง 30-35 % ช่วยลดพลังแก๊ส LPG ได้
  • เตาชีวมวล เชื้อเพลิงที่ใช้เป็นประเภทชีวมวล เช่น เศษไม้ พืชชนิดต่าง ๆ ความร้อนจะสูงกว่าเตามหาเศรษฐี เหมาะสำหรับหุงต้มนาน ๆ เช่น ต้ม นึ่ง ลดพลังแก๊ส LPG ลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน ลดการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ซังข้าวโพด กะลามะพร้าว เป็นต้น
  • เตาย่างประสิทธิภาพสูง พัฒนาขึ้นเพื่อลดการสูญเสียพลังงานความร้อนผ่านผนังเตาด้วยฉนวนที่ทำขึ้นจากดินเหนียวผสมแกรบดำ สามารถประหยัดถ่านได้จากเดิมถึง 83 % และมีประสิทธิภาพเชิงความร้อนจาก 6.22 % เป็น 35.94 % เหมาะสำหรับแม่ค้าพ่อค้าที่ขายไก่ย่าง เนื้อย่างตามริมทาง
  • เตาเผาผลิตถ่านแบบถัง 200 ลิตร (สำหรับคนที่ไม่อยากซื้อถ่าน/เผาถ่านใช้เอง) โดยการเผาถ่านในอดีต จะทำให้สูญเสียไม้เป็นจำนวนมาก แต่กระบวนการใช้แค่เศษไม้เศษฟืน เผาถ่านด้วยถัง 200 ลิตร เป็นเทคโนโลยีระดับครอบครัวที่มีประสิทธิภาพสูงในการเผาโดยไม่ต้องติดไฟในเตา แต่ใช้ความร้อนไปไล่ความชื้นในเนื้อไม้ กระบวนการนี้จะทำได้ถ่านคุณภาพดี อายุการใช้งานนาน

-----------
วานนี้ (21 มิ.ย. 65) นายธีรชัย จันทร์วิกูล เจ้าของร้านจำหน่ายเครื่องครัวทวีสิน ตลาดคลองเตย เปิดเผยว่า หลังราคาก๊าซหุงต้มปรับขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท ต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนเมษายน 65 ก็ทำให้ยอดขายเตาถ่าน หรือ เตาอั้งโล่ เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พฤษภาคม ที่ยอดขายพุ่งขึ้นเท่าตัว (100%) ยาวมาจนถึงปัจจุบัน จากปกติต้องสั่งสินค้าสัปดาห์ละครั้ง ก็ต้องเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จากเดิมที่ขายได้วันละประมาณ 5 ใบ ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10 ใบ ส่วนใหญ่ลูกค้าที่มาซื้อจะเป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ที่แบกรับภาระต้นทุนราคาก๊าซหุงต้มไม่ไหว และต้องหันมาใช้เตาถ่านแทนเพื่อลดต้นทุน


นายธีรชัย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการหันมาใช้เตาถ่านเพื่อลดต้นทุน เนื่องจากเตาถ่านเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศ ใช้เชื้อเพลิงราคาถูก (ถ่าน) และเป็นวิถีที่คนไทยคุ้นเคยอยู่แล้ว และเตาถ่านก็มีราคาถูกเริ่มต้นที่ราคาต่ำกว่า 100 บาท สูงสุดราคาเพียง 220 บาทเท่านั้น


แต่ยังคงเป็นห่วงเรื่องการก่อมลพิษ PM2.5 ที่อาจจะเพิ่มขึ้นหากมีการใช้เตาถ่านจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน การใช้เตาถ่านก็น่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในสภาพเศรษฐกิจซบเซาแบบนี้


ทีมข่าวได้ทำการสำรวจร้านจำหน่ายเตาถ่าน ในย่านตลาดคลองเตยพบว่า ทุกร้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นจากผลกระทบราคาก๊าซหุงต้มแพง และผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้าขายอาหารที่เป็นรถเข็น หรือมีร้านค้าเป็นของตัวเอง


ขณะเดียวกัน ทีมข่าวได้สำรวจความเห็นแม่ค้าอาหารตามศูนย์อาหาร หรือพื้นที่ให้เช่า พบว่า แม่ค้าส่วนใหญ่ยอมรับว่าอยากกลับไปใช้เตาถ่านเหมือนในอดีต แต่คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเจ้าของพื้นที่ให้เช่า มีความกังวลเรื่องความปลอดภัย (ไฟไหม้) และผลกระทบจากควันที่เกิดขึ้นจากการจุดเตาถ่าน

----------

วันที่ 21 มิถุนายน 2565 จากสถานการณ์การปรับราคาขึ้นของก๊าซหุงต้ม ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาหลายครัวเรือนเริ่มปรับตัว หันมาใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ขณะที่พ่อค้าเผาถ่านขายปรับราคาถ่านเพิ่มขึ้นอีกถุงละ 5 บาท เพราะสู้ค่าขนส่งไม่ไหว จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น


นายสุทัน เวิงไธสง อายุ 40 ปี พ่อค้าเผาถ่านขายรายหนึ่งในอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ตนเองมีอาชีพเผาถ่านขายมานานหลายปีแล้ว โดยมักจะตระเวนหาเก็บฟืน และรับซื้อไม้จากเพื่อนบ้าน นำมาเผาเป็นถ่านเพื่อจำหน่าย


โดยตนมีเตาเผาถ่านอยู่ 3 เตา แต่ละเตาจะใช้เวลาเผาถ่านประมาณ 1-2 วัน และเมื่อเผาเสร็จก็จะนำถ่านไปบรรจุใส่ถุงพลาสติก ส่งขายตามร้านค้าในราคาถุงละ 35 บาท ซึ่งเป็นการปรับราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ก่อนหน้านี้ขายในราคาถุงละ 30 บาท เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่แพง ทำให้ตนมีต้นทุนเรื่องค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ตนจึงต้องปรับราคาขึ้นอีกถุงละ 5 บาท


ซึ่งในช่วงนี้ก๊าซหุงต้มมีราคาสูงขึ้น ชาวบ้านหลายรายเริ่มหันมาใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ทำให้มียอดขายถ่านมากขึ้น โดยเมื่อก่อนตนขายถ่านได้เพียงเฉลี่ยเดือนละ 7,000-8,000 บาท แต่หลังราคาก๊าซพุ่งสูงขึ้น ทำให้ยอดเผาถ่านขายได้มากถึงเดือนละ 15,000 บาท สอดคล้องกับร้านค้าในตลาดสดพิมายที่รับถ่านจากตนมาจำหน่ายพบว่า ทางร้านเริ่มสต๊อกถ่ายไว้ให้เพียงพอจำหน่าย และราคาถ่านขายปลีกหน้าร้านอยู่ที่ถุงละ 45 บาท
----------

วานนี้ (21 มิ.ย. 65) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ร้านอาหารตามสั่ง ในพื้นที่ตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ได้สอบถามเจ้าของร้านอาหารตามสั่ง ที่ต้องทำอาหารจานด่วนแทบจะทั้งวัน เล่าว่า จากกรณีกระทรวงพลังงานแนะนำให้ใช้เตาถ่านนั้น มันคงไม่ได้ เนื่องจากเร่งความร้อนไม่ได้ ไม่ใช่ยุคเก่านะที่จะมาใช้เตาถ่าน


โดยที่ช่วงเย็นที่ลูกค้ามาเยอะ ถ้าเป็นเตาถ่าน เราไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ กว่าจะประกอบอาหารเสร็จลูกค้าหายหมด ส่วนการสิ้นเปลือง ตนเองคิดว่าถ่านน่าจะเปลืองกว่า และกว่าจะจุดไฟให้ติดก็ลำบากกว่า และก็ไม่รู้จะเก็บถ่านไว้ตรงไหน


โดยถ้าเป็นต่างจังหวัดตนเองคิดว่าพอได้ แต่ที่นี้มันในเมือง ทั้งควันไฟ ทั้ง กลิ่นอีก และอยากถามว่านี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดแล้วหรือที่แนะนำให้ใช้เตาถ่าน โดยที่แก๊สขึ้นก็ต้องหาวิธีช่วยเหลือประชาชนที่ดีกว่านี้


แม่ค้า ร้านขายไก่ทอด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลเทพารักษ์ เผยว่า ตามที่แนะนำให้ใช้เตาถ่านนั้น ก็ใช้ได้นะแต่ว่ามันช้ากว่าไก่จะสุก ไม่เหมือนแก๊สที่สามารถเร่งความร้อนได้ทำให้ไก่สุกไวและกรอบ แล้วที่มาคิดปริมาณถ่านที่ใช้ต่อเดือนนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการใช้แก๊ส โดยถ้าใช้ถ่ายวันหนึ่งก็ไม่ต่ำกว่า 3 ถุง ละละ 20 -25 บาท ไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อวัน โดยบางที่ใช้แก๊สถูกกว่าด้วย โดยหลักๆ การใช้ถ่านนั้นเราไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ และ ควัน กลิ่น ของถ่าน


ส่วนร้านก๋วยเตี๋ยวริมถนนเทพารักษ์ ในอำเภอบางพลี เล่าว่า ถ้าเปลี่ยนจากการใช้แก๊สมาใช้ถ่านจะมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมอุณหภูมิ และถ่านเดียวนี้ก็หาซื้อยาก เผาเองก็กลัวเจ้าหน้าที่จับ


โดยพ่อค้าแม่ค้าที่ประกอบอาหารนั้น ส่วนใหญ่ต้องใช้เตาแก๊สในการประกอบอาหารทั้งสิ้น เนื่องจากควบคุมอุณหภูมิความร้อนให้เหมาะสมได้ ในอาหารแต่ละอย่าง ส่วนถ่านหรือฝืน ไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบทั้งต้องเสียเวลาในการเติมถ่าน อีกทั้งมีกลิ่นควันจากการเผาไหม้ไปรบกวนลูกค้า และบ้านเรือนข้างเคียง โดยอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือราคาแก๊สมากกว่าที่จะแนะนำมาใช้เตาถ่าน

คุณอาจสนใจ

Related News