เศรษฐกิจ

นายกฯ เล็งหาช่องลดค่าครองชีพ ตรึงราคาน้ำมัน - จ่ออุ้มก๊าซหุงต้ม ผ่านบัตรคนจน-ร้านค้าคนละครึ่ง

โดย thichaphat_d

17 มี.ค. 2565

83 views

นายกฯ เตรียมคลอดมาตรการลดภาระค่าครองชีพ ปชช.ตรึงราคาน้ำมันจนกว่าเงินหมด จ่ออุ้มก๊าซหุงต้มผ่านบัตรคนจน-ร้านค้าคนละครึ่ง


เมื่อวานนี้ (16 มี.ค.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 1/2565 โดยระบุว่า ในวันนี้ถือเป็นการหารือถึงผลประกอบการประจำปีของรัฐวิสหกิจทั้ง 50 แห่ง โดยกำลังทบทวนบทบาทว่าจะทำอย่างไร ไม่สามารถที่จะมีรายได้ที่เพิ่มเติมขึ้น


ขณะเดียวกันการดูแลประชาชน ให้ได้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งวันนี้ก็มีการหารือถึงประเด็นการจัดหาหัวรถจักร และรถเมล์ใหม่ซึ่งกำลังทยอยเข้ามาในปีนี้ ยอมรับว่าเป็นปัญหาในเรื่องงบประมาณที่จะต้องใช้ในการจัดหา โดยจะมีการเร่งรัดทุกประการเพื่อดูแลประชาชน โดยนายกรัฐมนตรียังระบุถึงข้อเสนอมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสงครามยูเครนรัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานที่ดีดตัวสูงขึ้น


โดยพยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรช่วงนี้ไปก่อน ซึ่งราคาจริงสูงกว่านี้มากนัก และที่ผ่านมาก็ได้ใช้เงินจากกองทุนพลังงานไป ซึ่งส่งผลกระทบอยู่จนถึงปัจจุบันและต้องหาเงินมาเติมให้ตรงนี้ รัฐบาลจะต้องพิจารณาสถานการณ์ราคาน้ำมัน เพื่อกำหนดมาตรการต่อไป ช่วงนี้ถ้าทำได้ ไปจนถึงที่สุดในงบประมาณที่มีอยู่ อาจจะต้องมีมาตรการอื่นเพิ่มเติมขึ้นมา ขอความร่วมมือของประชาชนไว้ด้วยเนื่องจากอยู่ในสถานการณ์วิกฤต


ขณะที่การช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบ จะต้องมีการพิจารณาลดค่าใช้จ่ายของลูกจ้าง โดยจะให้กองทุนประกันสังคมดำเนินการ ก็จะให้การช่วยเหลือในเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน โดยจะพิจารณาขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติม


ขณะที่การแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ อาหารสัตว์ ปุ๋ย ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณามาตรการช่วยเหลือ เรื่องปุ๋ยเคมีราคาแพง เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกร พร้อมกับยอมรับว่าแม่ปุ๋ยนำมาจากต่างประเทศ และหลายประเทศเองก็เก็บเอาไว้ ไม่อยากส่งออก เพราะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ต้องแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยสั่งตัด ให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด


ส่วนการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ต้องมีการพิจารณาการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีมาตรการเบื้องต้นที่กำลังหารือกันอยู่ เพื่อบรรเทาผลกระทบ ค่าก๊าซหุงต้ม LPG ให้กับกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มในร้านอาหาร และเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง การช่วยเหลือค่าไฟฟ้า การช่วยเหลือราคาน้ำมันเบนซินในกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้าง พร้อมทั้งขอความร่วมมือ ผู้ค้าก๊าซ NGV ได้ตรึงราคาก๊าซเอาไปก่อน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลทำได้ในเวลานี้ เพราะฉะนั้นต้องติดตามสถานการณ์


ขณะนี้เองราคาน้ำมันก็แกว่งขึ้นแกว่งลง หลายคนบอกว่าราคาน้ำมันดิบโลกลดลงแต่ราคาน้ำมันในประเทศไม่ลดลง ก็อย่าลืมว่าที่ผ่านมา แพงเกินราคานี้แล้ว แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะลงอย่างไรก็เกินราคา 30 บาทต่อลิตรอยู่ ทุกอย่างขึ้นหมดขอให้ลองไปเปิดดูใน Google ก็ได้ ว่าราคาน้ำมันแต่ละวันมาเท่าไร ขอให้เข้าใจสถานการณ์ของประเทศด้วย


พร้อมกับฝากซื้อทุกคนให้ทำความเข้าใจ วิกฤตการณ์นี้ก็แก้ไขไม่ได้ หากไม่เข้าใจกัน ไม่ร่วมมือกัน ไม่ว่าจะใครก็แล้วแต่ รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเองก็พยายามทำอย่างเต็มที่ หลายอย่างก็ได้รับคำพิจารณาเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ทุกคนต้องช่วยกัน ถ้าเรามุ่งหวังการใช้งบประมาณมากๆ ทุกอันก็คือปัญหา เพราะเรามีงบประมาณไม่เพียงพอ ขอให้เข้าใจตรงนี้ด้วยเพราะรัฐบาลก็เป็นห่วงประชาชน ขอให้ไปย้อนดูว่าที่ผ่านมารัฐบาลดูแลไปแล้วเท่าไหร่


นายกรัฐมนตรี ระบุว่า มาตรการทั้งหมดจะต้องสรุปให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งก็แปลกมีการประชุมหารือมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อน และเมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะนำเข้ามาหารือที่ครม.อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นมาตรการที่ครมจะต้องรับผิดชอบร่วมกันในการอนุมัติ เพราะเป็นการใช้จ่ายงบประมาณไปด้วย


สิ่งสำคัญที่สุดคือการปรับวิธีการต่างๆ ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้างหรือไม่ ส่วนจะมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลถึงเมื่อไหร่นั้น นายกรัฐมนตรีระบุว่า จะดึงเท่าที่มีเงินอยู่ตอนนี้ มีเงินอยู่ 30,000 - 40,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ก็ใช้ไปจะหมดแล้ว ในช่วงที่ผ่านมาก็ใช้มาทุกวัน เพราะราคาควรจะเป็น 35-37 บาทต่อลิตร แต่ก็ตรึงไว้ 30 บาทต่อลิตรมานานแล้วพอสมควร


ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันรอบบ้านก็ไม่ใช่ว่าจะถูกกว่าไทย เว้นแต่ประเทศที่มีแหล่งน้ำมัน ขณะที่การตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างไข่ไก่ รัฐบาลได้มีการกำชับกระทรวงที่ต้องรับผิดชอบในการควบคุมราคา ขณะเดียวกันก็ต้องดูในเรื่องของธุรกิจ ว่าหากเป็นราคาไว้แล้วต้นทุนสูง แต่ให้ขายในราคาต่ำ เขาก็คงประกอบการไม่ได้เช่นกัน ก็ต้องดูที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม


ตนขอร้องบรรดาภาคธุรกิจ ขอให้ลดราคาลงบ้าง ไม่ใช่ลดจากราคาเดิม ราคาเดิมก็เป็นราคาเดิมก่อนสงคราม วันนี้เมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ก็ยอมลดกำไรลงมาหน่อยได้หรือไม่ ไม่อยากไปควบคุมมากนัก เพราะจะทำให้ธุรกิจเดินไม่ได้เหมือนกัน ต้องยอมรับว่าต้นทุนการผลิตของไทยมาจากต่างประเทศค่อนข้างมาก จึงต้องสร้างความเข้มแข็งในการสร้างต้นทุนการผลิตให้ได้เช่นเดียวกัน



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/OAhgR6dlRWM

คุณอาจสนใจ

Related News