เศรษฐกิจ

หอการค้าหวั่นสงครามยืดเยื้อ กระทบเศรษฐกิจไทย เสียหาย 2.44 แสนล้าน GDP ต่ำ-เงินเฟ้อพุ่ง

โดย thichaphat_d

10 มี.ค. 2565

29 views

วานนี้ (9 มี.ค. 65) ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค หรือ CCI ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ปรับตัวลดลงจากระดับ 44.8 เป็น 43.3 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นมา


เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน และกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีปรับตัวสูงขึ้นและกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า เพิ่มแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต


ซึ่งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและปัญหาราคาสินค้าแพง และยังฉุดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันให้ลดลงจากระดับ 28.5 มาอยู่ที่ 27.5 และในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 52.5 มาอยู่ที่ระดับ 50.8 ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต


ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 3.5-4.5% ในปีนี้ อย่างไรก็ดี จะประเมินปรับประมาณการณ์ GDP ไทยอีกครั้งช่วงก่อนสงกรานต์


นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า กรณีเลวร้ายสุดหากสงครามยืดเยื้อ 1 ปี จะฉุด GDP ไทย ให้ลดลง 1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5% -4.5% เหลือโต 2%-3% เงินเฟ้อแตะ 5% และเข้าสู่ภาวะ stagflation

หากยืดเยื้อ 6 เดือน จะฉุด GDP ลดลง 1% เหลือ 2.5%-3.5%

หากยืดเยื้อแค่ 3 เดือน GDP จะลดลง 0.5% เหลือ 3%- 4% เงินเฟ้อ3%-3.5%


ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันในตลาดโลกเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ราว 100 ดอลลาร์ สหรัฐฯต่อบาร์เรล จากเดิมที่คาดว่าจะเฉลี่ยที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดย 20 บาทต่อบาร์เรลที่ปรับขึ้นนั้น จะทำให้ราคาน้ำมันในไทยเพิ่มขึ้น 5 บาทต่อลิตร


โดยราคาน้ำมันที่แพงขึ้นทุก 1 บาทจะฉุดGDP ลดลงเฉลี่ย 0.3% ถึง 0.4% หากยืดเยื้อ 6 เดือน GDP จะลดลง 0.9% ถึง 1% เหลือ 2.5% ถึง 3.5%


ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันจะแตะระดับ 300 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ตามคำขู่ของรัสเซีย คิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเมื่อถึงตอนนั้นประชากรโลกจะกดดันเนื่องจากมีผลต่อราคาสินค้า และในที่สุดความต้องการการบริโภคก็จะลดลงทำให้ราคาไม่ได้สูงขนาดนั้น


แต่ต้องจับตากรณีราคาน้ำมันสูงแตะระดับ 150 ดอลลาร์ ซึ่งหากเป็นจุดนั้นจะทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบ ระบุรัฐบาลควรตรึงราคาน้ำมันและใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบ ไปจนถึงไตรมาส 2 ปีนี้ เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เชื่อว่านักท่องเที่ยวจะทยอยกลับมา ส่งออกดีขึ้น


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/xAiZVZ7pjEk

คุณอาจสนใจ

Related News