เศรษฐกิจ

"ส.อ.ท." จี้รัฐฯ แก้ปัญหาตรึงดีเซล-คุมเงินเฟ้อ แม้ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯจะฟื้นต่อเนื่อง

โดย sitanan_k

9 ก.พ. 2565

27 views

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ระดับ 88 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.8 ในเดือนธันวาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และกลับมาอยู่ระดับใกล้เคียงก่อนวิกฤตโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกองค์ประกอบยกเว้นต้นทุนประกอบการ



โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่ยังขยายตัวจากคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังดำเนินต่อไปได้ แม้จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน(Omicron) ในช่วงเดือนมกราคม แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีการเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและประชาชนทำให้สถานการณ์การระบาดไม่รุนแรงเหมือนกับช่วงก่อนหน้า



ปัจจัยลบ คือ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งราคาพลังงานและค่าขนส่ง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบและสินค้านำเข้า ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ยังไม่คลี่คลาย



สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นยู่ที่ระดับ 96.4 จากระดับ 95.2 ในเดือนธันวาคม 2564 เนื่องจากสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ในประเทศไม่รุนแรงและอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยฟื้นตัว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการคาดว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะมีทิศทางดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและนโยบายเปิดประเทศ รวมถึงการขยายตัวของภาคการส่งออก



พร้อมขอให้ภาครัฐควบคุมอัตราเงินเฟ้อและเร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพให้กับประชาชน อาทิ มาตรการลด ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ให้ภาคประชาชน ลดราคาก๊าซหุงต้ม และการเพิ่มวงเงินในโครงการคนละครึ่ง ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท แก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาสูงเพื่อลดภาระด้านต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ปรับมาตรการ Test & Go ให้ลดจำนวนครั้งการตรวจ RT-PCR ให้เหลือเพียงครั้งเดียว และให้ใช้วิธีการส่งผลตรวจ ATK ผ่านระบบ หลังการเดินทางเข้าประเทศ 5 วัน แทนการตรวจด้วย RT-PCR เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง



ส่วนกรณีที่ภาคขนส่งออกมาเรียกร้องเรื่องราคาน้ำมัน และขู่จะขึ้นราคาขนส่งอีก 20% มองว่าจะกระทบต่อราคาสินค้าโดยเฉพาะอุปโภคบริโภค และกระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งไม่ได้ทำสัญญาระยะยาวในการกำหนดราคาค่าขนส่งเหมือนบริษัทรายใหญ่ ซึ่งปกติจะทำข้อตกลงล่วงหน้ากันไว้เฉลี่ย 1-3 เดือน และแน่นอนว่าเมื่อต้นทุนสูงขึ้นผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องผลักภาระมาที่บริโภค ซึ่งคาดว่าแนวโน้มราคาสินค้าก็ยังจะโทรสูงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีต้องพิจารณาความต้องการบริโภคในตลาดด้วย



ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าขณะนี้รายได้ของประชาชนลดลง มองว่าภาครัฐต้องเข้ามาดูปัญหาว่าจะต้องแก้ด้วยภาษีหรือการอุดหนุน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลมีช่องในการใช้เครื่องมือด้านภาษีไม่มากนัก ทางออกที่ทำได้คือต้องเปิดประเทศ ผ่อนคลายมาตรการ ให้เงินเข้ามา คนมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยที่จะกดดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นคือ การเมืองต่างประเทศ การกักตุนน้ำมัน ของกลุ่มประเทศยุโรป



สำหรับปัญหาเสถียรภาพการเมืองภายในประเทศ เอกชนไม่ได้คาดหวัง แต่สนใจเฉพาะด้าน เพราะตั้งแต่รัฐบาลมีภายในก็เห็นว่าการขับเคลื่อนเป็นไปได้ยาก แต่ประชาชนยังคงต้องพึ่งพารัฐบาลในการช่วยเหลืออยู่ สำหรับการยุบสภานั้นมองว่าไม่มีผล และอันที่จริงหากมีการเลือกตั้งใหม่ จะทำให้เม็ดเงินสะพัดได้ในระยะสั้นด้วยซ้ำ และหากทำให้รัฐบาลมีเอกภาพกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงทำนโยบายได้จริงตามที่สัญญาได้สักครึ่งก็จะดี

คุณอาจสนใจ

Related News