เศรษฐกิจ

ขออย่าตื่นตระหนก! คปภ.ยังไม่อนุมัติให้ 'อาคเนย์ประกันภัย' เลิกกิจการ ย้ำยังคุ้มครองทุกกรมธรรม์

โดย thichaphat_d

27 ม.ค. 2565

165 views

วานนี้ (26 ม.ค.) นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เครือไทยโฮลดิ้งส์ หรือ TGH เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติเห็นชอบแผนการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของอาคเนย์ประกันภัย

ซึ่งเป็นการใช้สิทธิขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจ และส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อ คปภ. เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากประกันภัยโควิดแบบ เจอจ่ายจบ ซึ่งล่าสุด จ่ายสินไหมไปแล้วกว่า 9 พันล้านบาท ทำให้ไปต่อไม่ไหว

ขณะที่ทางเลือกอื่น เช่น การเพิ่มทุน หรือ การขอสินเชื่อใหม่ อาจจะไม่สามารถทำได้ รวมถึงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก็ได้สนับสนุนทางการเงินไปแล้วเกือบ 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยพยุงธุรกิจ และหากจะดำเนินกิจการต่อไป ก็จะนำไปสู่การมีฐานะการเงินติดลบ และถูกเพิกถอนใบอนุญาต

โดยขอให้ คปภ. พิจารณาให้กองทุนประกันวินาศภัย ดำเนินการคืนเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัยทุกราย ประกอบด้วย 1.ผู้ถือกรมธรรม์โควิด-19 จำนวนกว่า 1.8 ล้านราย และ 2.ผู้ถือกรมธรรม์ประเภทอื่นๆ (Non Covid-19) อีกกว่า 8.6 ล้านราย หรือ รวมกันประมาณ 10.4 ล้านราย รวมทั้งให้กองทุนฯ จัดหาผู้รับประกันภัยรายใหม่ ให้แก่ผู้เอาประกันภัยด้วย

ส่วนคู่ค้า อาทิ อู่ซ่อมรถ, โรงพยาบาล, ตัวแทนกว่า 9,000 ราย จะได้รับเงินชำระอย่างครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันอาคเนย์ประกันภัย ยังสามารถจ่ายเงินคืนผู้เอาประกันภัยได้ครบถ้วนทุกราย รวมถึงพนักงานลูกจ้าง 1,396 โดยขณะนี้สถานะทางการเงินของอาคเนย์ประกันภัย ยังมีเงินเหลือพอ ที่จะชำระหนี้ให้คู่ค้าทั้งหมด โดยมีสินทรัพย์สุทธิกว่า 1,800 ล้านบาท และเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายอยู่ที่ 170% สูงกว่าเกณฑ์ที่ คปภ.กำหนดไว้ที่ 120% แต่หากล่าช้าออกไป จะไม่สามารถจ่ายเงินได้

ส่วนข้อเสนอที่ให้อาคเนย์ประกันภัย โอนกิจการให้แก่บริษัท อินทรประกันภัย ทางบอร์ดไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีความเห็นว่า ควรให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการคืนเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัยทุกราย

ขณะที่อีกด้าน อาคเนย์ประกันภัย ร่วมกับบริษัท ไทยประกันภัย ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ฟ้องเลขาธิการ คปภ.กรณีออกคำสั่งนายทะเบียน สั่งห้ามบริษัทประกันภัย ยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ ว่าอาจเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี ซึ่งล่าสุดยังอยู่ระหว่างรอศาลชี้ว่า จะรับคดีนี้ไว้พิจารณาหรือไม่

ขณะที่ประธานสมาคมประกันวินาศภัยไทย เชื่อว่า กรณีอาคเนย์ประกันภัย ยื่นขอเลิกกิจการ จะไม่ลามเป็นลูกโซ่ไปบริษัทประกันอื่น โดยนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย มองว่า กรณีอาคเนย์ประกันภัย ยื่นขอเลิกกิจการ เป็นปัญหาเฉพาะของบริษัท เชื่อว่าจะไม่ลามเป็นลูกโซ่ไปยังบริษัทประกันอื่น แต่อาจกระทบต่อธุรกิจในห่วงโซ่ เช่น อู่ซ่อมรถ , โรงพยาบาล หรือ ตัวแทนนายหน้า ซึ่งเชื่อว่าทางบริษัท มีแผนเคลียร์หนี้ทั้งหมดอยู่แล้ว

ส่วนสถานการณ์เคลมประกันโควิด-19 ขณะนี้ ถึงแม้จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดือนธันวาคมที่มียอดเคลมราว 4 หมื่นล้านบาท 2 - 3 เท่าตัว แต่ก็น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และยังอยู่ในระดับที่บริษัทประกันขนาดใหญ่ ที่มีทุนหนา เช่น กรุงเทพประกันภัย วิริยะประกันภัย เมืองไทยประกันภัย ฯลฯ ยังสามารถรองรับได้ แต่ในส่วนของบริษัทขนาดเล็ก และบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ของ คปภ. ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบเจอ จ่าย จบ ยังเหลือความคุ้มครอง อีกราว 7 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งจะหมดความคุ้มครองประมาณสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

ในเวลาต่อมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 กำหนดให้กรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสีย

โดยคณะกรรมการมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ให้บริษัทต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จก่อนที่คณะกรรมการจะอนุญาตให้เลิกกิจการ อย่างน้อยดังต่อไปนี้

1.วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันอยู่

2.วิธีการบอกกล่าวให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสียทราบ และใช้สิทธิตามกฎหมาย

3.การโอนหรือการขอรับเงินสำรองที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียน

4.การจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประกันวินาศภัยและการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท

5.ระยะเวลาของการดำเนินการตาม (1) (2) (3) และ (4) ในกรณีที่คณะกรรมการอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และบริษัทประสงค์จะเลิกบริษัท การเลิกบริษัทให้มีผลนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและให้มีการชำระบัญชี

แม้บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ต่อคณะกรรมการ คปภ. ผ่านสำนักงาน คปภ. แล้ว แต่คณะกรรมการ คปภ. ยังไม่ได้อนุญาต โดย คปภ. ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายก่อนเสนอต่อคณะกรรมการ คปภ. พิจารณาต่อไป

สำหรับกองทุนประกันวินาศภัยได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพเท่านั้น ตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558

ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดภารกิจของกองทุนฯ ให้ครอบคลุมถึงกรณีบริษัทประกันภัยขอเลิกประกอบธุรกิจเอง

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก โดยยืนยันว่าตอนนี้ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยังไม่สามารถปิดหรือหยุดประกอบกิจการได้จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการจากคณะกรรมการ คปภ.

โดยสำนักงาน คปภ. ได้ตั้งทีมงานประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สายกำกับธุรกิจและการลงทุน สายตรวจสอบ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย สายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว เพื่อเป็นการพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย และผู้มีส่วนได้เสีย


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/2bN4m4CmIwc

คุณอาจสนใจ

Related News