เศรษฐกิจ

สังคมผู้สูงอายุ ทำตลาดรถไทยชะลอตัว เหตุคนมีกำลังซื้อมีจำนวนน้อยลง

โดย paweena_c

23 ก.ค. 2567

313 views

ตลาดรถยนต์ในไทยเริ่มเข้าสู่สภาวะอิ่มตัว มีรถยนตร์วิ่งสู่ท้องถนนสะสมเกือบ 20 ล้านคัน ชี้ยอดขายในปี 2567 นี้อาจตกต่ำลงในรอบ 15 ปี หมดหวังฟื้นตัวกลับไปช่วงก่อนโรคโควิด ในอนาคตใกล้ ๆ ตลาดรถยนต์ไทยอาจจะไม่เติบโตต่อ และอาจจะนำไปสู่ภาวะอิ่มตัว

ttb analytics สำนักวิจัยในเครือธนาคารทีทีบี เปิดเผยรายงานภาวะตลาดรถยนต์ในประเทศไทย พบว่า นับตั้งแต่ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยก็เติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และเติบโตอย่างก้าวกระโดด 2 ช่วงหลัก ๆ โดยช่วงแรกในปี 2554-2555 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายรถคันแรก ทำให้ยอดขายรถยนต์ในช่วงนั้นทะยานสู่ 1.3-1.4 ล้านคันต่อปี และอีกช่วงในปี 2560-2562 เป็นผลสืบเนื่องหลังการปลดล็อกเงื่อนไขการครอบครองรถคันแรก ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์แตะที่ 1.1 ล้านคันต่อปี เทียบกับปีก่อนหน้าที่ขายได้เพียง 7.8 แสนคัน

อย่างไรก็ดี แม้จะผ่านพ้นช่วงวิกฤตโควิด-19 และปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนจากอุปทานชะงักงันทั่วโลก สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศกลับยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า โดยล่าสุดยอดขายรถยนต์ 5 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวอย่างหนักถึง 23.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและมีแนวโน้มที่ยอดขายรถยนต์ทั้งปี 2567 จะหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี

โดย ttb analytics มองว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศอาจไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับก่อนการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562 ได้ในระยะเวลาอันใกล้ จากการชะลอตัวของภาคอุปสงค์ในระยะยาวเนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้าง 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1.ตลาดรถยนต์ในประเทศอิ่มตัว จากจำนวนรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนสะสมทั่วประเทศปัจจุบันสูงถึงเกือบ 20 ล้านคัน หรือคิดเป็น 277 คันต่อประชากรไทย 1,000 คน ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเวียดนาม 50 คัน ฟิลิปปินส์ 38 คัน และอินโดนีเซีย 78 คันต่อประชากร 1,000 คน ประกอบกับพฤติกรรมการใช้งานรถยนต์ของคนไทยที่ค่อนข้างนานเฉลี่ยถึง 12 ปี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยประเทศหลัก ๆ ที่ใช้งานรถยนต์ประมาณ 6-8 ปี จึงทำให้โอกาสที่จะซื้อรถยนต์ใหม่เพื่อหมุนเวียนรถเก่าค่อนข้างต่ำ

2.พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยนับตั้งแต่การบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของแบรนด์ผู้ผลิตจีน ทำให้มาตรฐานการตั้งราคารถใหม่ในท้องตลาดมีแนวโน้มลดลงจากเดิม ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ขณะที่บางส่วนชะลอการซื้อรถยนต์ออกไปจนกว่าจะเจอราคาที่เหมาะสมกับกำลังซื้อ รวมไปถึงทัศนคติต่อการซื้อรถยนต์ของคนยุคใหม่ที่หันมาใช้การเช่าแทนการซื้อครอบครอง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตและลดภาระค่าใช้จ่ายที่จะตามมา ทำให้การซื้อรถยนต์ในยุคสมัยนี้อาจน้อยกว่าในอดีต

3. โครงสร้างประชากรกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ เห็นชัดจากยอดขายที่อยู่อาศัยและรถยนต์ในประเทศระยะหลังชะลอการเติบโตลง ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างประชากรไทยที่อยู่ในภาวะ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Complete Aged Society) และกำลังจะขยับเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super Aged Society) (สัดส่วนประชากรอายุ 65 ปี มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด) ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า

สวนทางกับสัดส่วนประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อรถยนต์อย่างกลุ่มอายุ 25-49 ปี กลับมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 40% ของประชากรทั้งหมดในปี 2553 เป็น 35.2% ในปี 2566 และคาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 33.2% ของประชากรทั้งหมดในปี 2573

4. เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลง แม้เครื่องชี้การบริโภคในช่วงที่ผ่านมาจะขยายตัวได้ดี แต่ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของภาคบริการตามการท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนโดยรวมอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ภาคการผลิตและส่งออกก็กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างรุนแรงขึ้น รวมไปถึงการบุกตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กระทบความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลงในระยะยาว ซึ่งจะบั่นทอนการเติบโตของรายได้และกำลังซื้อของภาคครัวเรือนในที่สุด

5. หนี้ครัวเรือนสูงเพิ่มข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากระดับหนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันสูงถึง 91.3% ของจีดีพี ซึ่งสูงเกินกว่าระดับที่เหมาะสมที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 80% ของจีดีพี และสูงกว่าประเทศที่มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกัน ท่ามกลางความพยายามแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ จึงทำให้สถาบันการเงินมีข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อแก่รายย่อยมากขึ้น สะท้อนจากการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อของสถาบันการเงินหดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ไตรมาสในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ แม้ว่าการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินจะมีแนวโน้มผ่อนคลายลงบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อ แต่คาดว่าความกังวลเกี่ยวกับการเสื่อมค่าของมูลค่าสินทรัพย์ (รถยนต์) ในอนาคตแนวโน้มการด้อยลงของคุณภาพหนี้ รวมถึงเงื่อนไขสัญญากู้และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค จึงทำให้สถาบันการเงินยังคงมีความรัดกุมในการพิจารณาสัญญาสินเชื่อเช่าซื้อต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News