อาชญากรรม
มุกใหม่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลูกหลานถ่ายคลิปตัวเอง เรียกค่าไถ่พ่อแม่ ตร.แนะวิธีสังเกตป้องกัน
โดย thichaphat_d
12 ส.ค. 2566
499 views
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอกสมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. และหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรทางเทคโนโลยี พร้อมคณะทำงานได้ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับการที่ในช่วงนี้ มีคดีนักเรียนนักศึกษาถูกคนร้ายหลอกให้เรียกค่าไถ่จากพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคดีจึงขอเตือนภัยพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังดูแลบุตรหลานของตนเอง และขอให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ช่วยกันสอดส่องดูแลนักเรียน นักศึกษา มิให้ตกเป็นเหยื่อ ดังนี้
พลตำรวจเอกสมพงษ์ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 มีคดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) จำนวน 20,000 กว่าเคส ข่มขู่ว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จำนวน 2,000 กว่าเคส ซึ่งเดิมเป็นการโทรศัพท์หลอกบุคคลทั่วไปให้โอนเงิน แต่ช่วงนี้มีเคสที่น่าสนใจ จำนวน 4 เคส ซึ่งทั้ง 4 เคส มีรูปแบบการกระทำผิดในลักษณะเดียวกัน คือคนร้ายใช้วิธีการโทรศัพท์หาพ่อแม่แล้วส่งรูปบุตรหลานที่ถูกควบคุมตัวไว้มาให้ โดยที่พ่อแม่ไม่สามารถติดต่อบุตรหลานได้ จึงต้องมีการจ่ายเงินเป็นค่าไถ่ตัว ก่อนจะสามารถติดต่อบุตรหลานตัวเองได้
ซึ่งเหยื่อทุกคนในตอนแรก จะถูกคิดว่าเป็นการเรียกค่าไถ่แต่เมื่อมีการตรวจสอบในเชิงลึกจะพบว่า คดีเหล่านี้จะเป็นคดีที่บุตรหลานถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาข่มขู่ว่ามีการกระทำความผิดในรูปแบบต่างๆ ก่อนจะบังคับให้ถ่ายคลิปหรือภาพถ่ายในเชิงลักษณะการถูก จับตัวเรียกค่าไถ่ เพื่อให้กลุ่มคนร้ายนำมาส่งต่อให้กับผู้ปกครอง และมีการโอนเงินผ่านบัญชีของบุตรหลานเองหรือบัญชีม้าก่อนจะมีการถอนเงินก็หลบหนีไป
โดยรูปแบบของการก่อเหตุคนร้ายจะใช้วิธีการโทรศัพท์ผ่านระบบ Voip (Voice Over Internet Protocol) หรือระบบ Internet โทรเข้าโทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์พื้นฐานของผู้เสียหายหรือเหยื่อ โดยสุ่มหรือเลือกกลุ่มนักศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนดี โดยคนร้ายได้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วแต่จะอ้างเพื่อข่มขู่ทำให้เหยื่อตกใจกลัว โดยจะใช้การอ้างถึงว่ามีการยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือมีหมายจับในคดีต่างๆที่เป็นมูลฐานความผิดร้ายแรงเช่นการฟอกเงินหรือการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับขบวนการผิดกฎหมาย ก่อนจะอ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้ถูกดำเนินคดีดังกล่าวได้ และเสนอให้ความช่วยเหลือ โดยให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อโอนเงินมายังบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ที่กลุ่มคนร้ายได้จัดเตรียมไว้และหลอกลวงเงินของผู้เสียหายไป
แต่หากเหยื่อไม่มีเงินคนร้ายจะแนะนำให้ออกจากห้องพัก และเปลี่ยนซิมโทรศัพท์มือถือ และไปหาซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเตรียมการณ์ เพื่อใช้ในการถ่ายภาพ ทำทีเป็นการถูกจับเรียกค่าไถ่ อาทิเช่น ซื้อเชือกมัดเทปกาวจากร้านค้า ก่อนที่คนร้ายจะบังคับให้ผู้เสียหายปิดโทรศัพท์มือถือที่ครอบครัวสามารถติดต่อได้ และเริ่มนำเชือกและเทปกาวมาวัดมือมัดเท้าและใช้โทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายในการบันทึกคลิปหรือภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นว่ามีการจับตัวไปเรียกค่าไถ่ก่อนจะส่งคลิปไปให้กลุ่มคนร้าย
จากนั้นคนร้ายจะส่งคลิปไปยังพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เพื่อเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่หรือผู้ปกครองของผู้เสียหาย โดยการโอนเงินมีอยู่ 2 รูปแบบ 1.พ่อแม่โอนเงินไปให้เหยื่อแล้วเหยื่อโอนเงินต่อไปให้คนร้าย / 2. พ่อแม่โอนเงินให้คนร้าย
สำหรับข้อสังเกต และข้อควรระวัง ในคดีนี้ที่พบ
1. คนร้ายอาจจะหาข้อมูลหรือสุ่มคัดเลือกเหยื่อเป็นกลุ่มนักศึกษาระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งพักอาศัยอยู่ตามหอพักหรือที่พักใกล้สถานศึกษาโดยเหยื่อเป็นบุคคลที่อยู่หอพักหรือที่พักเพียงคนเดียว ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง
2. คนร้ายได้วางแผน และมีสคริปต์เพื่อเตรียมการพูดหลอกลวง และใช้ถ้อยคำที่มีประสบการณ์มาก เพื่อข่มขู่และชักจูงให้เหยื่อตกใจกลัว (เช่น โทรมาอ้างเป็นเจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีพัสดุตกค้าง แจ้งว่ามีหมายจับ หรือมีคนเอาข้อมูลไปเปิดบัญชีธนาคารแล้วเอาบัญชีไปใช้ในการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน) ขู่ว่าถ้าถูกดำเนินคดีจะไม่ได้เรียนต่อ และคล้อยตามคำสั่งของคนร้าย
3. คนร้ายใช้โทรศัพท์ผ่านระบบ Internet (VOIP : Voice Over Internet Protocol) ซึ่งหมายเลขดังกล่าวจะมีหมายเลขไม่ถึง 10 หลักและมีเครื่องหมาย +697 +698 ซึ่งสังเกตุได้ว่าน่าจะเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรมาจากต่างประเทศหรือโทรผ่านระบบ Internet หากผู้เสียหายโทรย้อนกลับไปยังเบอร์ของคนร้าย จะไม่สามารถติดต่อได้ และหมายเลขดังกล่าวอาจจะไม่มีอยู่จริง เป็นการที่คนร้ายสร้างหมายเลขโทรศัพท์หรือปลอมเบอร์ (Fake)
4. คนร้ายได้มีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวง โดยผสมผสานระหว่างแผนประทุษกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์กับแผนประทุษกรรมการเรียกค่าไถ่ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มนักศึกษา เพื่อทดแทนปริมาณเหยื่อที่ปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยเชื่อถือของแผนประทุษกรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์แบบดั้งเดิม
5. คนร้ายเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มนักศึกษา เพราะนักศึกษาพักอยู่คนเดียวห่างจากครอบครัว มีการสั่งซื้อของ มีการหัดเริ่มลงทุนมีการยุ่งเกี่ยวกับการพนัน จึงทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เข้าถึงได้ง่ายและข้อมูลที่ใช้ข่มขู่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นจริง ควรระวังไม่ให้เหยื่อที่อยู่หอพักตามลำพัง ควรจะมีบัดดี้อยู่ด้วย
โดยการป้องกัน พลตำรวจเอกสมพงษ์ แนะนำว่า ควรสังเกตุ เบอร์ติดต่อที่โทรเข้ามาหากเป็นเบอร์ที่ไม่รู้จักหรือเป็นเบอร์ที่มีการทำเครื่องหมาย+697 +698 นำหน้าให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ , สังเกตความผิดปกติของปลายสายได้จากคำถาม เช่น การถามชื่อ และข้อมูลส่วนตัวโดยตรง หรือการใช้ข้อความอัตโนมัติในการตอบรับแล้วให้เรากดเบอร์เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ถ้ามีการสนทนาทาง Video call ให้มีสติและสังเกตปากกับเสียงตรงกันหรือไม่ หรือ ภาพและท่าทางมีความผิดปกติหรือไม่ (คนร้ายสามารถใช้โปรแกรมปลอมใบหน้าขณะสนทนาได้)
หากคนร้ายข่มขู่ว่ากระทำผิด และต้องไปแจ้งความหรือติดต่อเจ้าหน้าที่ ให้นัดหมายไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งความ สอบสวนปากคำ ชี้แจง หรือยื่นพยานเอกสารพยานวัตถุ ณ สถานที่เกิดเหตุหรือสถานที่ราชการด้วยตนเอง หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือมิจฉาชีพ ให้วางสายทันที และแจ้งเบาะแส กับหน่วยงานที่ดูแล เช่น ตำรวจ ธนาคาร ค่ายมือถือ หรือ กสทช.
หากคนร้ายให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบ ให้สันนิษฐานว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากข้อมูลบัญชีมีเพียงธนาคารที่ตรวจสอบได้ห้ามบอกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงห้ามโอนเงินตามคำกล่าวอ้าง ,โหลดแอปฯ Who’s call ซึ่งสามารถตรวจสอบหมายเลข และจะระบุหมายเลขที่ไม่รู้จัก ช่วยให้ทราบว่าใครโทรมาทันที และหากคนร้ายส่งเอกสารมาข่มขู่ ให้ตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่ออกเอกสารนั้นๆ โดยตรง หรือโทรหาตำรวจท้องที่ เบอร์ 191 หรือเบอร์ 1441 และเบอร์ 081-8663000 หรือเข้าพบพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ หรือปรึกษากับผู้ปกครอง
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง หากถูกคนร้ายติดต่อมาในเชิงลักษณะการจับตัวเรีนกค่าแบบนี้ ขอให้รีบปรึกษาบุคคลที่ไว้วางใจ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือโทรสายด่วน 191 ,1441 และเบอร์ 081-8663000 เพื่อพิจารณาแยกแยะว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์หรือมีการจับตัวเรียกค่าไถ่จริงๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ให้ความช่วยเหลือถูกวิธี และก่อนโอนเงินให้ดูว่าเป็นบัญชีที่อยู่ในแบล็คลิสต์ที่ใช้กระทำความผิด หรือบัญชีม้าหรือไม่
รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/2Z2Z7jyNBs4
แท็กที่เกี่ยวข้อง มิจฉาชีพ ,เรียกค่าไถ่ ,กลโกงมิจฉาชีพ ,แก๊งคอลเซ็นเตอร์