อาชญากรรม

กองปราบฯ รวบ 7 ผู้ต้องหา อ้างตัวเป็นเสธ. หลอกลงทุนโครงการมูลนิธิชัยพัฒนา

โดย nutda_t

10 ส.ค. 2566

172 views

พลตำรวจตรีมนตรี เทศขัน ผู้บังคับการปราบปราม กล่าวว่า คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อต้นปี 2564 กองบังคับการปราบปราม ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก มูลนิธิชัยพัฒนา ว่ามีกลุ่มบุคคลที่ได้ทำการแอบอ้างว่ามูลนิธิชัยพัฒนา จะจัดทำโครงการขุดลอกคลอง (แก้มลิง) ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 90 โครงการ แล้วมาหลอกให้ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รับเหมาบริษัทต่างๆ ให้มาเข้าร่วมโครงการ จนผู้เสียหายทราบว่า โครงการดังกล่าวไม่มีอยู่จริง จึงขอยกเลิกสัญญา และขอเงินคืน แต่ถูกบ่ายเบี่ยง และกลุ่มผู้บุคคลดังกล่าวได้หลบหนีไป ติดต่อไม่ได้ ซึ่งมีผู้เสียหายรวมกว่า 20 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1.5 ล้านบาท

สำหรับพฤติการณ์ของผู้ต้องหา จากการสืบสวนพบว่า ตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2564 กลุ่มผู้ต้องหาอ้างตนเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง บอกว่าเป็นตัวแทนจากมูลนิธิชัยพัฒนา เข้ามาชักชวนแนะนำผู้เสียหายซึ่งมีทั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และประชาชนทั่วไป ให้รับงานก่อสร้างโครงการขุดลอกหนองน้ำ โดยกลุ่มผู้ต้องหาได้สร้างความน่าเชื่อถือ ด้วยการให้ผู้ที่สนใจจะรับเหมาโครงการไปเข้าร่วมประชุมรับฟังเงื่อนไข และคุณสมบัติของบริษัท โดยหลอกใช้สถานที่ราชการเป็นสถานที่นัดประชุม แต่ละครั้งที่มีการจัดประชุม มีคนสนใจเข้าร่วม 50-60 คน นัดประชุมแล้วประมาณ 4 ครั้ง โดยอ้างว่าแต่ละโครงการมีงบประมาณสนับสนุนเป็นเงินหลัก 100-1,000 ล้านบาท หากใครสนใจเข้าร่วมโครงการต้องจ่ายเงินค่าซื้อแบบโครงการ เริ่มต้นที่ราคา 17,500 บาท ไปจนถึง 90,000 บาท ราคาขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่และงบประมาณของโครงการที่จะได้รับ

พอกลุ่มผู้เสียหายหลงเชื่อ จ่ายเงินซื้อแบบโครงการ และมีการทำสัญญาว่าจ้างกับกลุ่มผู้ต้องหา ก็จะมีการหลอกให้ทำสัญญากิจการร่วมค้ากับบริษัทน้ำมันเชื้อเพลิงของกลุ่มขบวนการต่ออีกทอดหนึ่ง จากนั้น ภายหลังการทำสัญญาแล้ว กลับไม่มีผู้เสียหายรายใดได้งานรับเหมาแต่อย่างใด เมื่อทวงถามกลุ่มผู้ต้องหาก็เลื่อนนัด บ่ายเบี่ยง

โดยจากการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่า กลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งทำกันเป็นขบวนการ มีผู้กระทำผิดรวม 10 ราย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่อ้างตนเป็นผู้กอง และเสธ. ไปชักชวนผู้เสียหาย จำนวน 5 คน คือ นายสมชาย หรือ ผู้กองเป็ด , นายสุริยพันธ์ หรือ ผู้กองจอร์ท , นายอัครวัฒน์ หรือ เสธหนุ่ม , นายนิพนธ์ , นายประสาร หรือ เสธแดง  และกลุ่มที่อ้างเป็นบริษัทหน้าม้า ว่าได้รับงานจากมูลนิธิฯ จริง จำนวน 5 คน คือ นายกิตติศักดิ์ , นางสาวเมตตา , นางสาววราภรณ์ , นายสมศักดิ์ และนายเลิศพงศ์

ซึ่งพนักงานสอบสวน ได้ขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับในข้อหาฉ้อโกง และฉ้อโกงประชาชน เมื่อวานนี้ (9 ส.ค. 66) ตำรวจจึงกระจายกำลังเข้าตรวจค้นทั้งหมด 8 จุดในพื้นที่ 7 จังหวัด เพื่อจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 10 ราย โดยจับกุมได้ 7 ราย หลบหนี 2 ราย คือ นายกิตติศักดิ์ , นางสาวเมตตา และมี 1 รายที่ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ในคดีฉ้อโกง พื้นที่ สน.บางนา คือ นายเลิศพงศ์

สำหรับกลุ่มผู้ต้องหานั้น มีทั้งพลเรือน และอดีตข้าราชการหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งขณะที่ก่อเหตุได้เกษียณอายุราชการแล้ว โดยแต่ละคน จะสร้างฉายาให้ตัวเองว่าเป็นผู้กอง เป็นเสธ. ทั้งที่ไม่ได้เป็นจริงๆ เช่น นายสมชาย หรือ ผู้กองเป็ด เพียงแค่เคยเรียน รด. เท่านั้น

ด้าน พันตำรวจโทภาณุมาศ แสงส่ง รองผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปราม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจค้นบ้านของกลุ่มผู้ต้องหา ทำให้ทราบว่า นอกจากกลุ่มขบวนการนี้จะแอบอ้างโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนาแล้ว ยังพบเอกสารกว่า 1,000 แผ่น ที่เป็นรายละเอียดโครงการก่อสร้างต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐอีกมากกว่า 20 โครงการ และยังตรวจพบเอกสารสัญญา MOU


อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานใดเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด โดยเอกสารต่างๆ ที่กลุ่มผู้ต้องหานำมาแอบอ้างนั้น เป็นเอกสารที่มีการเปิดเผยในข่าวหรือสื่อต่างๆ อยู่แล้ว แต่ทุกโครงการที่กลุ่มผู้ต้องหานำมาแอบอ้างนั้น ยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้างจริง


ทั้งนี้ จากการสอบปากคำ ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธ โดยส่วนใหญ่อ้างว่าได้ทำตามคำสั่งของนายสมชาย หรือ ผู้กองเป็ด ที่ชักชวนมาทำงานร่วมกัน แต่จากแนวทางการสืบสวนของตำรวจ พบว่า กลุ่มขบวนการนี้ มีประมาณ 2 คนที่เป็นตัวการใหญ่ คือ นายสมชาย หรือ ผู้กองเป็ด และนายกิตติศักดิ์


นอกจากนี้ จากการตรวจสอบประวัติของกลุ่มผู้ต้องหา พบว่ามี 3 ราย ที่มีคดีติดตัวจำนวนมาก คือ นายกิตติศักดิ์ มีประวัติรวม 4 คดี ในข้อหาลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ ฉ้อโกง หลอกขายสัมปทานเหมืองหิน ความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค , นางสาววราภรณ์ มีประวัติรวม 2 คดี ในข้อหายักยอกทรัพย์ ฉ้อโกง หลอกขายสัมปทานเหมืองหิน ร่วมกับนายกิตติศักดิ์ และนายเลิศพงศ์ ที่ถูกจำคุกอยู่นั้น มีประวัติรวม 13 คดี เกี่ยวกับ พ.ร.บ.เช็ค และ พ.ร.บ.แรงงาน 10 คดี คดีฉ้อโกงอีก 3 คดีเกี่ยวกับการหลอกขายแบบก่อสร้างเรือนจำ และหลอกรับเหมาถมที่


ทั้งนี้ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอให้มีการตรวจสอบที่มาของโครงการกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะร่วมลงทุน หรือหากมีประชาชนรายใดตกเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้ต้องหานี้ สามารถเข้าแจ้งความได้ที่กองบังคับการปราบปราม หรือสถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุทันที

แท็กที่เกี่ยวข้อง  กองปราบ ,มูลนิธิชัยพัฒนา

คุณอาจสนใจ