อาชญากรรม

สน.ทองหล่อ จ่อออกหมายจับ 'แอม' - กรมโรงงานฯ เตรียมดำเนินคดี 'แอม-ไอซ์ ปรีชญา' ใช้ไซยาไนด์ผิดวัตถุประสงค์

โดย petchpawee_k

9 พ.ค. 2566

45 views

‘บิ๊กโจ๊ก’ เรียกกรมโรงงานฯ สอบปมนำเข้า-ควบคุมไซยาไนด์ หากพบ จนท.รัฐบกพร่องต้องดำเนินคดีเตรียมพิจารณาสำนวน มีใครเข้าข่ายร่วมกระทำผิดเพิ่มเติมหรือไม่ ส่วนหมายจับแอม คดี สน.ทองหล่อ คาดออกวันนี้ (9 พ.ค.) 


ด้านกรมโรงงานฯ เตรียมแจ้งดำเนินคดี แอม-ดาราสาว ใช้ไซยาไนด์ ผิดวัตถุประสงค์ ย้ำกรมโรงงานฯ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูการอนุญาตนำเข้า แต่ไม่ได้ดูแลควบคุมการใช้งาน เผย มีการอนุญาตนำเข้า 14 บริษัท รวม 80 ตัน มีผู้ใช้รายย่อยถึง 2,000 ราย

วานนี้ ( 8 พ.ค.) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประชุมร่วมกับชุดคลี่คลายคดีนางสรารัตน์ หรือ แอม ผู้ต้องหาฆ่าวางยาไซยาไนด์ โดยได้เรียกกรมโรงงานอุตสาหกรรม นำโดยนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานฯ พร้อมเจ้าหน้าที่กรมโรงงานฯ มาให้ข้อมูล


 หลังจากช่วงสัปดาห์ก่อน ตำรวจร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าตรวจสอบโรงงานที่ผู้ต้องหาสั่งซื้อไซยาไนด์มาก่อเหตุ และตรวจพบว่ามีการจำหน่ายต่อไปให้กับผู้ซื้อกว่า100 ราย วานนี้ทางกรมโรงงานฯ ระบุ ก่อนเข้าชี้แจงว่าทางตำรวจได้เรียกมาให้ข้อมูลแต่ไม่รู้ว่าจะมีการสอบถามประเด็นใดบ้าง


สำหรับประเด็นที่ชุดคลี่คลายคดีจะสอบถามกับกรมโรงงานฯ คือจะให้กรมโรงงานชี้แจงเอกสาร รายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าไซยาไนด์ ทั้งบริษัทผลิต โรงงานที่นำเข้า วัตถุประสงค์ของการนำเข้าและนำไปใช้ และการครอบครองไซยาไนด์ รวมถึงข้อกำหนดต่างๆ เพื่อตรวจสอบดูว่าเจ้าหน้าที่กรมโรงงานฯ บกพร่องด้วยหรือไม่


พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ให้สัมภาษณ์ ก่อนเข้าประชุมว่า ในวันนี้ได้เรียกกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาชี้แจงรายละเอียด โดยเฉพาะเรื่องของการควบคุมและการกำกับดูแล เพราะไซยาไนด์ มีไว้สำหรับอุตสาหกรรมและเพื่อศึกษาวิจัยเท่านั้น


ซึ่งหากพบว่าการที่ไซยาไนด์ หลุดลอดออกไปจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะมีความผิดด้วย เหมือนกับกรณีเรื่องปืนหาย ที่ผู้กำกับการสถานีตำรวจนั้นๆ จะต้องได้รับโทษ ม.157 ในฐานะผู้บังคับบัญชา และโรงงานที่นำเข้าไซยาไนด์ เบื้องต้นยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาใด ซึ่งจะมีการประชุมก่อน


 ความคืบหน้าทางคดี เป็นการเรียกประชุมที่กองปราบปรามทั้งหมดตามคำสั่งของผู้บัญขาการตำรวจแห่งชาติ ที่ให้นำสำนวนคดีมารวมไว้ที่กองปราบปราม เบื้องต้นขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับใคร แต่ยอมรับว่าในช่วง 4 วันที่ผ่านมาคดีมีความคืบหน้าไปมาก ทั้งการขยายผลในทางคดี คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้ จะมีความชัดเจนว่ามีใครเกี่ยวข้องกับการร่วมกันฆ่าหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน


ส่วนกรณีนางสาวมณฑาทิพย์ ขาวอินทร์ หรือ “ทราย” ที่เสียชีวิตในพื้นที่ สน.ทองหล่อ วันนี้ (9 พ.ค.) จะทำการสอบปากคำแพทย์นิติเวชเพื่อประกอบสำนวนคดี หลังจากนั้นคาดว่าจะสามารถออกหมายจับแอมเพิ่มในคดีนี้ได้


และในวันพุธที่ 11 พ.ค.นี้ จะเรียกบุคลากรทางการแพทย์ มาสอบปากคำในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ เพื่อขอความเห็นภาพรวมของคดีที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์และการใช้สารไซยาไนด์ทั้งหมด ที่สโมสรตำรวจ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญจะต้องใช้ขึ้นศาลด้วย


ขณะที่การสอบปากคำพ่อแม่ของ พันตำรวจโท วิฑูรย์  อดีตรองผู้กำกับการสอบสวน สภ.สวนผึ้ง หรือรองอ๊อฟ อดีตสามีของแอมนั้น พบว่าให้การเป็นประโยชน์ แต่ไม่สามารถเปิดเผยคำให้การได้ เพราะจะกระทบกับรูปคดี


พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังเปิดเผยถึง การสอบปากคำนอมินีที่มีชื่อบนกล่องพัสดุว่าเป็นคนสั่งซื้อไซยาไนด์ให้แอมด้วยว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนสอบปากคำไว้ทั้งหมดแล้ว แต่ขอยังไม่ให้ข้อมูลรายละเอียดในสำนวนเรื่องคำให้การ เพราะเป็นประเด็นสำคัญในสำนวน แต่เขายอมรับว่าแอมเป็นคนสั่งแต่ที่เขามีชื่อปรากฎเขาไม่ได้เป็นคนสั่ง เพราะเขาไม่รู้เบื้องต้นนอมินีคนนี้ยังไม่พบว่าเข้าข่ายความผิด

--------------------------------------------------------

ด้านนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยหลังจากเข้าให้ข้อมูลกับ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ  หักพาล รอง ผบ.ตร. ยืนยันว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ควบคุมการนำเข้าสารไซยาไนด์จากต่างประเทศ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย


ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขอนำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและงานศึกษาวิจัย โดยยอมรับว่า มีผู้ใช้รายย่อย ประมาณ 2,000 ราย เช่น การใช้ในร้านทอง ซึ่งส่วนนี้ทางบริษัทนำเข้าที่ได้รับขออนุญาตจะเป็นผู้ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เอง


กรณีคดีของแอม ผู้ต้องหาที่นำสารไซยาไนด์ไปใช้ฆ่าเหยื่อเพื่อปลดหนี้ และกรณีที่มีคนนำไปใช้วางยาฆ่าสัตว์เลื้อยคลาน ถือเป็นการใช้ไซยาไนด์ผิดวัตถุประสงค์ ทางกรมโรงงานฯในฐานะผู้เสียหาย จะต้องเดินทางไปร้องทุกข์ดำเนินคดีกับคนกลุ่มนี้ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ใช้รายย่อย ที่ไม่ต้องมีการขออนุญาตครอบครอง หากในรอบหกเดือนมีการใช้เกิน 100 กิโลกรัม ก็ต้องมีการแจ้งวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ด้วย โดยตำรวจจะเป็นผู้ติดตามการใช้งาน ว่ามีการใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ 


ส่วนเรื่องที่มีการขายผ่านออนไลน์ จะต้องไปดูที่ พ.ร.บ.ควบคุมและกฎหมายเรื่องวัตถุอันตราย ว่าโฆษณาได้หรือไม่ซึ่งหลังจากนี้จะประสาน สคบ.ให้ช่วยดูว่าสามารถควบคุมการโฆษณาไซยาไนด์ได้หรือไม่


บดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม บอกว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่ขอนำเข้าไซยาไนด์ทั้งหมด 14 ราย รวมน้ำหนัก 80 ตันต่อปีโดยหลังจากนี้ทางอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า จะมีการแก้ไขเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตนำเข้าไซยาไนด์


โดยจะกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความความเข้มงวดก่อนนำเข้า เช่น ให้ผู้ที่ขออนุญาตนำเข้าแจ้งรายชื่อผู้ที่ต้องการใช้สารไซยาไนด์เป็นต้น ทั้งนี้ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่มีความบกพร่องในเรื่องนี้



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/SUGneCP1I8A

คุณอาจสนใจ

Related News