อาชญากรรม
รวบหัวขโมยเครื่องกระตุกหัวใจ AED ขายออนไลน์ เสียหาย 1.8 ล้าน เผยเปิดตู้ง่ายไม่มีตัวล็อค
โดย petchpawee_k
26 ม.ค. 2566
420 views
พบตัวแล้ว! หัวขโมยเครื่อง AED ยอมรับขโมยแค่ 6 เครื่อง ที่ติดอยู่ตามป้อมตำรวจ เปิดตู้ง่ายไม่มีตัวล็อค นำไปให้เพื่อนอาสากู้ภัยขายต่ออีกทอด เครื่องละ 7,000-12,000 บาท แบ่งเงินกัน เผย ใช้เวลาก่อเหตุช่วงกลางคืนหลังเลิกงาน ทำไปเพราะไม่มีตังค์ใช้ ยันตามคืนได้ทั้งหมด “รู้ตัวว่าผิดโดนดำเนินคดีติดคุกก็ยอม’
จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้ออกมาโพสต์เกี่ยวกับเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ เครื่อง AED ที่มีการวางประจำจุดต่าง ๆ เพื่อไว้สำหรับช่วยชีวิตคนจาก ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และมีรหัสเครื่องระบุทุกตัว แต่สุดท้ายกลับถูกมือดีขโมยไป โดยแต่ละเครื่องราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 50,000 บาท
พร้อมระบุข้อความว่า “เจ้าหน้าที่ ที่ดูแลเครื่อง AED ที่ประจำตามมุมต่างๆ ใน กทม. แจ้งมาว่า ผมขอฝากถึงพวกมือดีที่ขโมยเครื่องไปว่าได้ติดไป 262 เครื่อง หายไปแล้ว 27 เครื่อง และเจอไปโพสต์ขายในเฟซบุ๊กก็มีครับ ตอนนี้ความเสียหายอยู่ที่ 1,890,000 บาท จาก 27 เครื่องที่หายไป” พร้อมโพสต์ภาพตู้ที่ถูกทุบ ซึ่งจุดนี้โชคดี ที่เครื่อง AED ยังอยู่ แต่มีสภาพความเสียหายของกระจกหน้าตู้
เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ยังได้โพสต์ภาพที่กู้ภัยส่งมาให้จุดบริเวณแยกชักพระ เขตตลิ่งชัน พื้นที่ สน.ตลิ่งชัน เครื่อง AED ก็หายไป ในภาพ มีแต่ตู้ใส่เครื่อง ว่างเปล่าไม่มีตัวเครื่อง โดยจุดนี้ เป็น 1 ใน 27 เครื่องที่หายไป
ขณะที่เพจ ‘เครือข่ายรถจักรยานฉุกเฉินทางการแพทย์’ โพสต์ “โปรดระวังอย่าซื้อเครื่อง AED ฟรี เพื่อประชาชนของสภากาชาดไทย ตามป้อมตำรวจและสถานที่ราชการทั่วประเทศมาขาย โดยเครื่องมีรหัส สามารถระบุถึงเจ้าของเครื่องได้ พร้อมติดแฮชแทค #ท่านอาจเสียเงินและถูกดำเนินคดีได้”
ต่อมามีทีมกู้ภัยฯ และพลเมืองดี สืบหาเบาะแสเองจนตามไปถึงที่พัก อาศัยอยู่ในวัดไก่เตี้ย ย่านตลิ่งชัน โดยไปพร้อมกับตำรวจสายตรวจ สน.ตลิ่งชั่น เจอคนที่ประกาศขายเครื่อง AED โพสต์ขายต่อในโซเชียลมีเดีย (ชายใส่เสื้อน้ำเงิน) แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัย ส่วนภรรยาอ้างทำงานเป็นผู้ช่วยทันตแพทย์โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
ทีแรกชายคนนี้ปฏิเสธบอกว่ารับมาจากคนอื่นชื่อ “โอ” นำมาให้ตนเองประกาศขายอีกทอด แต่มีหลักฐานสลิปโอนเงินเข้าบัญชีชายคนดังกล่าว สุดท้ายยอมรับว่าเป็นคนงัด AED จากตู้เอง ขโมยมาแล้ว 6 เครื่อง ขณะที่ภรรยาอ้างไม่มีส่วนรู้เห็นและไม่ทราบว่าสามีไปขโมยเครื่อง AED มาประกาศขายในโซเชียล
นายอานนท์ แซ่เตียว อายุ 36 ปี พลเมืองดี เผยว่า ตนเห็นในเพจข่าวมีการประกาศว่าเครื่อง AED ถูกขโมย เมื่อเข้าดูพบใบหน้าของชายคนที่ประกาศขาย มีเบอร์โทรศัพท์ จึงเข้าไปส่องดูในเฟซบุ๊กพบว่าชายคนดังกล่าวมีเพื่อนร่วมกันในเฟซบุ๊กของตนหลายคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาสากู้ภัย เนื่องจากก่อนหน้านี้ตนเป็นอาสากู้ภัย แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำแล้ว ตนจึงติดต่อเพื่อนที่เป็นอาสากู้ภัยให้ติดตามตัวชายคนดังกล่าว
จากนั้นตนกับพวกจึงพาไปตามหาตัวชายคนดังกล่าว กระทั่ง 3 ทุ่ม (24 ม.ค.) เจอตัวชายที่ประกาศว่าเครื่อง AED ในโซเชียล อาศัยอยู่ย่านตลิ่งชั่น จึงสอบสอบว่าขโมยไปขายจริงหรือไม่ เขายอมรับว่าจริงแค่ 6 เครื่องเท่านั้น ที่แรกชายคนนี้ไม่ยอมรับว่าตัวเองขโมย แต่พอเค้นถามก็ยอมรับสารภาพ ทำไปเพราะยากจน ขัดสนเรื่องเงิน
พวกตนไปที่พักของชายคนดังกล่าวตรวจสอบแล้วไม่พบเครื่อง AED แม้แต่เครื่องดียว คาดว่าน่าจะขายหรือนำไปไว้ที่ใดที่หนึ่ง ส่วนสลิปพบมีการโอนเงินเข้าซึ่งต้องตามต่อว่าขายไปให้ใคร ตอนที่ตนไปเจอตำรวจไม่ได้จับกุมเพราะไม่มีเจ้าทุกข์ ตามเจอแล้ว 4 เครื่อง อีก 2 เครื่อง อยู่ระหว่างติดตาม ตนไม่ทราบว่าเขานำไปขายให้ใคร ทั้งนี้ตนได้นำคลิปหลักฐานคำสารภาพไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สน.ตลิ่งชั่น
ทีมข่าวไปเจอนายรุ่งโรจน์ อายุ 38 ปี ชายที่อยู่ในคลิป ซึ่งคือคนขโมยเครื่อง AED ยอมรับว่าขโมยจริงทั้งหมด 6 จุด รวม 6 เครื่องที่ติดอยู่ตามป้อมตำรวจ ได้แก่ หัวลำโพง 3 เครื่อง / แยกวรจักร 2 เครื่อง / แยกเจริญนคร 1 เครื่อง ส่วนที่บอกว่าขโมยไป 27 เครื่องนั้นตนไม่รู้เรื่อง ยอมรับทำไปรู้เท่าไม่ถึงการณ์ / พอเกิดเรื่องเครื่อง AED ทั้ง 6 เครื่อง ยืนยันตนสามารถเรียกคืนได้จากคนที่รับซื้อ โดยตนบอกกับคนที่รับซื้อขอเวลาผ่อนเพื่อเอาเครื่อง AED คืน
ทั้งนี้ ตนเริ่มขโมยเครื่อง AED เครื่องแรกที่แยกวรจักร เมื่อเดือน พ.ย. ขี่มอเตอร์ไซค์ตระเวนคนเดียว อาศัยการก่อเหตุช่วงกลางคืนหลังเลิกงานเวลาประมาณเที่ยงคืนกว่าๆ (ตอนนั้นทำงานปั๊มน้ำมัน ตอนนี้โดนไล่ออกเพราะมีเรื่องกับคนที่ปั๊ม) ไม่ได้ทุบตู้ให้แตกเสียหาย ใช้มือกดปุ่มยกออกมาเพราะตู้ไม่ล็อคกุญแจ หลังจากขโมยเครื่อง AED มาแล้ว ก็นำมาไว้ที่พักของเองก่อน จากนั้นนำไปให้เพื่อนอาสากู้ภัยที่รู้จักกันนำไปขายต่ออีกทอด ไม่รู้นำไปขายให้ใครบ้าง
โดยนำไปขายแล้ว 3 เครื่อง เครื่องแรกขาย 12,000 / เครื่องสองขาย 10,000/ เครื่องสามขาย 10,000 ตนเองจะได้ส่วนแบ่ง 7,000-9,000 บาท เพื่อนอาสากู้ภัยคนที่นำไปขายได้ส่วนแบ่ง 3,000 บาท/ ส่วนอีก 3 เครื่องยังไม่ได้ขาย สาเหตุที่ก่อเหตุเพราะไม่มีตังค์ อยากหาตังค์ใช้ ไม่คิดว่าเรื่องจะแดง เพื่อนอาสากู้ภัยทำหน้าที่ขาย ตนเองทำหน้าที่ขโมย
เมื่อถามว่าทำไมเลือกขโมยเครื่อง AED โดยนายรุ่งโรจน์ บอกว่า เปิดตู้ง่ายไม่มีตัวล็อค แค่กดมันก็เด้งออกแล้วก็ยกออกมา อีกทั้งตนเองเคยเป็นอาสากู้ภัย เคยอบรมวิธีการใช้และรู้ว่าเครื่องนี้มีราคา และรู้ว่าติดตั้งที่ไหนอย่างไรบ้าง จึงเลือกที่จะขโมยเครื่อง AED ยืนยันจะสามารถตามกลับคืนมาได้ทั้งหมด 6 เครื่อง ของยังอยู่ครบ จะนำไปใส่ตามตู้ไว้เหมือนเดิมในจุดที่ตนไปเอามา แค่เอาเงินไปคืนเขาแล้วเอาของกลับคืนมา
“รู้ว่ามีความผิด ตอนนั้นมันวูบๆ เราไม่ได้คิดถึงตรงนี้ เราคิดว่าพวกอาสาฯ ได้ไปเผื่อมีเหตุอะไรเขาจะได้ใช้ได้ ผมทราบข่าวว่ามีการตามล่า รู้ตัวว่าผิดมาก ผมไม่ได้หนี หนีไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็ยอมรับสภาพ จะโดนดำเนินคดีก็ยอม ผมเลือกไม่หนีเพราะผมรู้ตัวผมอยู่แล้ว ติดคุกก็คือติด ปฏิเสธอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ผมเอาไปแค่ 6 เครื่อง จะให้ผมรับว่าเอาไป 27 เครื่องได้ยังไง ผมไม่ได้เอาไป”
จากนั้นตำรวจชุดสืบสวนนครบาล ได้มาควบคุมตัวนายรุ่งโรจน์ ขึ้นรถไปสอบสวนเพื่อขยายผล ขณะที่แม่ของนายรุ่งโรจน์ ซึ่งอาศัยอยู่กับลูกชาย ลูกสะใภ้และหลานอีก 4 คน ภายในวัดไก่เตี้ย เผยทั้งน้ำตาว่า ตนเพิ่งทราบเรื่อง ที่ผ่านมาเคยเห็นลูกชายนำเครื่อง AED มาที่บ้าน แต่ไม่ได้สนใจเพราะไม่รู้ว่าเป็นเครื่องอะไร แม่เสียใจ
นายแพทย์ ธนดล โรจนศานติกุล หัวหน้าศูนย์กู้ชีพฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เครื่อง AED ที่ถูกขโมย เป็นโครงการที่สภากาชาดไทย มอบเครื่องให้นำไปติดในพื้นที่สาธารณะทั่วกรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ซึ่งตามหลักการตู้จะไม่ล็อคกุญแจไม่เก็บในสำนักงานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงง่าย
โดยเครื่องที่หาย อยู่ในเฟส 2 ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มอบเครื่อง AED จำนวน 262 เครื่อง ติดตั้งแล้วเสร็จไปแล้ว 255 เครื่อง ใน กทม. โดยติดตั้งที่สถานีตำรวจแต่ละ สน. 88 เครื่อง ส่วนที่เหลือติดตั้งตามป้อ และทางแยกต่างๆ ในกรุงเทพฯ โดย สตช.มอบให้ตำรวจนครบาลเป็นผู้ดูแล
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่พบเห็นเครื่อง AED ที่ถูกมือดีขโมยไป นำมาส่งคืนหรือนำมาไว้ที่จุดติดตั้ง เพราะเครื่องนี้ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ แต่หากไม่กล้านำมาส่งคืนเจ้าหน้าที่ สามารถตรวจสอบจุดติดตั้งเครื่องจากแอปพลิเคชั่นได้
แท็กที่เกี่ยวข้อง ขโมยเครื่องAED ,เครื่องกระตุ้นหัวใจ ,ขโมยเครื่องกระตุ้นหัวใจ ,กู้ภัย